ต่อชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ร่วมบริจาคโลหิตและลงทะเบียนอาสาสมัคร เพื่อบริจาคสเต็มเซลล์ที่สภากาชาด

รุ่นพี่ค่ะ ได้รับวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ที่ไม่ตอบสนองต่อการให้คีโมฯ ต้องการปลูกถ่ายไขกระดูก(สเต็มเซลล์) ด่วน!! เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะต่อชีวิตเขาได้
แต่เนื่องจากผู้บริจาคและผู้รับ ต้องมีเนื้อเยื่อ (HLA) ที่ตรงกัน ซึ่งโอกาสที่จะเจอคือ 1 ใน 10,000 ดังนั้นยิ่งมีคนลงทะเบียนมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเจอคู่ก็มากขึ้นเท่านั้น
จึงอยากจะขอความกรุณารณรงค์ให้ทุกท่าน ร่วมบริจาคโลหิตและลงทะเบียนอาสาสมัคร เพื่อบริจาคสเต็มเซลล์ที่สภากาชาด เพื่อต่อชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกนับพันคนค่ะ
สอบถามเพิ่มเติมที่
ป้อง 081-699-5511 lineid: pongchanin
การลงทะเบียนเพื่ออาสาบริจาคทำได้ง่ายๆ เหมือนบริจาคเลือดค่ะ
ใช้แค่ 5 ซีซี
ไม่ต้องเจาะไขกระดูก
ได้ทุกกรุ๊ปเลือดค่ะ
บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell)
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell)เป็นเซลล์ตัวอ่อนของโลหิต ซึ่งอาศัยในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต ซึ่งหล่อเลี้ยงอยู่ในร่างกาย เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต สามารถบริจาคให้บุคคลอื่นได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคแต่อย่างใด และเป็นความหวังเดียว ที่จะรักษาผู้ป่วยโรคทางโลหิตให้หายขาดได้ในปัจจุบัน โรคที่สามารถรักษาได้ ด้วยการปลูกถ่าย Stem Cell เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย, โรคโลหิตจางชนิดไขกระดูกฝ่อ,โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาวเฉียบพลัน / เรื้อรัง ,โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น ก่อนจะลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell เรามาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิตกันก่อน เนื่องจากการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell นั้น ต้องดำเนินการพร้อมการบริจาคโลหิต
ขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell มีดังนี้
1. ตรวจสอบคุณสมบัติของอาสาสมัคร
เป็นผู้บริจาคโลหิต
อายุระหว่าง 18 ปีบริบูรณ์ -50 ปี
เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
2. การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell
หลังจากผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนบริจาคโลหิต/ ตรวจความเข้มข้นโลหิต / ตรวจวัดความดันโลหิต/ ผู้สนใจลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ติดต่อเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ก่อนไปบริจาคโลหิต ชั้น 2
3. การเป็นผู้บริจาค Stem Cell
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะทำการเก็บตัวอย่างโลหิตประมาณ 5 ml. พร้อมการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปตรวจลักษณะเนื้อเยื่อ ( HLA or Tissue typing ) และเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อน หากผู้บริจาคมีลักษณะเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยแล้ว ศูนย์บริการโลหิตฯ จะเชิญอาสาสมัครมาบริจาคสเต็มเซลล์ในภายหลัง ซึ่งการบริจาค stemcell ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคแต่อย่างใด แต่กลับช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ เสมือนได้เกิดใหม่
วิธีบริจาค Stem Cell
การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมี 2 วิธี ซึ่งปัจจุบันนี้ นิยมวิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทางหลอดโลหิตดำ(Peripheral Blood Stem Cell Donation) เพราะง่ายและสะดวกสำหรับผู้บริจาค โดยผู้บริจาคสามารถเลือกวิธีบริจาคได้ หรืออาจจะได้รับการร้องขอจากแพทย์ ให้บริจาคด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (ก่อนการบริจาค ต้องมีการตรวจสุขภาพของผู้บริจาค) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทางหลอดโลหิตดำ (Peripheral Blood Stem Cell Donation)
โดยปกติในกระแสโลหิตจะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต(Stem Cell) อยู่น้อยมาก ในขั้นแรกจึงต้องฉีดยา G-CSF 4 วัน เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) ออกจากไขกระดูก (Bone Marrow) มากระจายในกระแสโลหิตให้มากพอ จึงจะเข้ากระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ซึ่งคล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดโลหิต หรือน้ำเหลือง(Plasma) โดยนำโลหิตผ่านเข็มที่แทงอยู่ในเส้นเลือดดำ(Vein) เข้าสู่เครื่อง Automated Blood Cell Separator ที่จะแยกเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ทั้งนี้จะใช้เวลาเก็บครั้งละ 3 ชั่วโมง และอาจจะต้องมาเก็บ 2-3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย
2. การบริจาคไขกระดูก (Bone Marrow Donation)
เป็นกระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากโพรงไขกระดูก โดยใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) ซึ่งดำเนินการเก็บในห้องผ่าตัด กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ และจะนำมาให้หลังจากที่ได้เจาะเก็บไขกระดูกเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และหลังทำแผลแล้ว ผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น และควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน
วันและเวลาทำการลงทะเบียน เป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell
จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
เสาร์, อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 15.30น.
ดูรายละเอียดได้ ที่ https://is.gd/XKDP5t

ร่วมแสดงความคิดเห็น