107 ปี คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์เมืองลำพูน

คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (พุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่) ถือเป็นคุ้มเจ้าเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในเมืองลำพูน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในนครลำพูน คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2455 ในสมัยเจ้าหลวงจักรคำ
ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 (พ.ศ.2454 – 2486) ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 6

ตัวอาคารเป็นเรือนสะระไน ขนาดใหญ่ 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ หลังคาจั่วผสมปั้นหยา เป็นเรือนพักอาศัยของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้าสัมพันธวงศ์ และบุตรธิดา
หากจะกล่าวถึงความสำคัญของเจ้าหญิงส่องหล้านั้น เป็นธิดาของเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ (หมวก ณ ลำพูน) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว เป็นเจ้าน้องของพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์และเจ้าหญิงมุกดา
เจ้าหญิงส่องหล้า เคยสมรสกับเจ้าน้อยจิตตะ หลานของเจ้าหลวงเหมพินธุ์ไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 8 มีธิดารวม 2 คนคือ 1.เจ้าหญิงภัทรา ซึ่งต่อมาได้สมรสกับพลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่) ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
องค์สุดท้าย เจ้าหญิงภัทราและเจ้าราชบุตรวงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ มีธิดา 2 คนได้แก่ เจ้าหญิงพงษ์แก้ว ณ เชียงใหม่ กับเจ้าหญิงระวีพันธุ์ ณ เชียงใหม่ และ 2.เจ้าหญิงโสภา สมรสกับเจ้าหนานบุญมี ตุงคณาคร ส.ส.คนแรกของจังหวัดลำพูน
ต่อมาภายหลังเจ้าหญิงส่องหล้า ได้สมรสอีกครั้งกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (พุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่) บุตรของเจ้าน้อยมหาวงศ์ เจ้าหญิงส่องหล้าและเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ มีบุตรธิดารวมกัน 9 คน ได้แก่ เจ้าหญิงรวงคำ เจ้าสุรกัณทร เจ้าวรดิษฐ์ เจ้าฤทธิวงศ์ เจ้าพงศ์สว่าง เจ้า
สว่างสวัสดิ์ เจ้าหญิงรวงแก้ว เจ้าหญิงฤทธิดา และเจ้ามานุรัตน์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในลำพูน ได้รวบรวมเงินเพื่อซื้อที่ดินและตัวอาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ จากบุตรธิดาในจำนวน 58,000 บาท ซึ่งการซื้อที่ดินของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในขณะนั้นต้องให้คนจีนที่มีสัญชาติไทยเป็นผู้ซื้อ เนื่องจาก
กฏหมายยังไม่อนุญาติให้คนต่างด้าวเป็นเจ้าของที่ดิน โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่เป็นตัวแทนซื้อคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ประกอบด้วย นายศิวะ เตียวไพรัช (เฮียซิ่ว) นายสวัสดิ์ ภู่เจริญ (โกเหย่า) นายเทียมปลิว แซ่โค้ว และนายสกล ปรีชาหาญ (หมาดำ)
เมื่อกลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้ซื้อคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์แล้ว ก็ได้ใช้สถานที่นี้เป็นที่พบปะพูดคุยกันของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในจังหวัดลำพูน ต่อมาปี พ.ศ.2489 กลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้ใช้อาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ เปิดสอนภาษาจีน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ใช้ชื่อว่า โรง
เรียนหวุ่นเจิ้ง (เจริญและเที่ยงธรรม) นอกจากจะมีการสอนภาษาจีนเป็นหลักแล้ว ยังเปิดสอนในวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาคำนวน เป็นต้น
โรงเรียนหวุ่นเจิ้ง เป็นสอนได้ประมาณ 4 ปีจนถึงปี พ.ศ.2492 จึงได้ปิดกิจการด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลได้มีการเพ่งเล็งสมาคมชาวจีนรวมทั้งกิจการของคนจีน เนื่องจากสงสัยและเกรงเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงมีการจับกุมคนจีนในจังหวัดลำพูนไปกักขัง
ไว้ที่เพชรบูรณ์ ทางสมาคมจีนจึงได้มีการขายที่ดินบางส่วนของโรงเรียนหวุ่นเจิ้งเพื่อใช้เป็นค่าไถ่ผู้ที่ถูกจับกุม ซึ่งต่อมาก็ได้รับการปล่อยตัว
ปี พ.ศ.2495 ได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง เป็นโรงเรียนมงคลวิทยา รวมถึงการเปลี่ยนหลักสูตรการสอนตามแบบกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงเลิกสอนภาษาจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในช่วงเวลาแรกโรงเรียนมงคลวิทยาเปิดทำการสอนในสภาพที่ลำบากทั้งการเงิน
และจำนวนนักเรียน จนกระทั่งครูเซี้ยง นายถาวร เลาหกุล (กิมเซี้ยง แซ่เล้า) ได้เข้ามาดำเนินกิจการและบริหารต่อ โดยเช่าอาคารสถานที่จากสมาคมชาวจีนในจังหวัดลำพูน เดือนละ 200 บาท ซึ่อต่อมาโรงเรียนมงคลวิทยาก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ได้ขยายกิจการและซื้อ
ที่ดินสร้างโรงเรียนแห่งใหม่บริเวณทุ่งนาบ้านสันมหาพน จำนวน 5 ไร่
ปี พ.ศ.2529 โรงเรียนมงคลวิทยาได้ย้ายไปเปิดสอนยังโรงเรียนแห่งใหม่ ทำให้สถานที่และตัวอาคารคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ถูกทิ้งให้รกร้าง กระทั่งมีนักธุรกิจได้มาขอเช่าอาคารเปิดเป็นร้านอาหารคุ้มต้นแก้ว ก่อนที่จะปิดกิจการไป ต่อมาสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท.ลำพูนได้ขอ
เช่าพื้นที่คุ้มเป็นสถานีวิทยุและหมดสัญญาลงเมื่อปี พ.ศ.2548
ปัจจุบันคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ มีอายุ 107 ปี ตัวอาคารยังมีความสมบูรณ์คงสภาพเดิม นับเป็นคุ้มเจ้าที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในล้านนา
 

ร่วมแสดงความคิดเห็น