รู้จัก “ขัวแขก” สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่

สะพานเก่าแก่ที่ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำปิงของเชียงใหม่ คือสะพานข้ามแม่น้ำปิงบริเวณหน้าวัดเกตุการาม มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ “ขัวเก่า” ,”ขัวแขก” และ “ขัวกุลา” แต่คนเมืองเชียงใหม่จะนิยมเรียกว่า “ขัวแขก” สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2421 โดย ดร.มาเรียน เอ็ม.ชีค มิชชั่นนารี ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสมัยของ ดร.แมคกิลวารี มิชชั่นนารีชาวอเมริกันคนแรกที่มาเชียงใหม่เมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว“ขัวแขก” เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำปิงที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ สร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ข้ามระหว่างแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกบริเวณหลังวัดเกตุการามมาฝั่งตะวันตก บริเวณถนนช้างม่อยตัดกับถนนวิชยานนท์เหนือตลาดต้นลำใยในฤดูน้ำหลากจะมีท่อนซุงขนาดใหญ่ จำนวนหลายร้อยท่อนลอยมาตามแม่น้ำปิง ไหลปะทะเสาสะพานจนพัง กระทั่งปี พ.ศ.2483 ได้มีการรื้อสะพานแห่งนี้เนื่องจากไม้พุพัง เมื่อรื้อสะพาน “ขัวเก่า” แล้วทำให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำปิงมีความยากลำบากในการเดินทางข้ามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฤดูแล้งไม่สามารถใช้เรือข้ามได้ ทางราชการจึงได้สร้างสะพานชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ชาวบ้านเรียกว่า “ขัวแตะ” ครั้นพอถึงหน้าน้ำหลากก็จะถูกน้ำพัดพังไป จึงทำให้ต้องสร้างขัวแตะขึ้นทุกปีต่อมามีพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ โมตีราม หรือนายมนตรี โกสลาภิรมณ์ ได้บริจาคเงินรวมทั้งมีการทอดผ้าป่าด้วย เพื่อระดมเงินทุนสร้างเป็นสะพานถาวรและเป็นอนุสรณ์สถาน แก่ภรรยาของชาวอินเดียที่ชื่อจันทร์สม จึงได้ตั้งชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์” (ขัวแขก) ส่วนที่มาของชื่อ “ขัวแขก” นั้นมาจากนายโมตีราม ซึ่งเป็นผู้สร้างและมีเชื้อสายของแขกอินเดีย ชาวบ้านจึงเรียก “ขัวแขก” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาปัจจุบัน “ขัวแขก” เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิง สำหรับคนเดินข้ามที่เชื่อมระหว่างชุมชนวัดเกตุการามที่มีชาวอินเดียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกับตลาดวโรรสซึ่งเป็นย่านค้าขายของชาวอินเดียนั่นเอง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น