สัตตภัณฑ์เก่าของเจ้าหลวงลำพูน

สัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียนสำหรับตั้งไว้หน้าพระประธานในวิหารของล้านนาทั่วไปนิยมสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งคล้ายหัวเตียง มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บนยอดสุดมีที่สำหรับปักเทียน 7 เล่ม สันนิษฐานว่าเลข 7 น่าจะหมายถึงภูเขา 7 ลูกที่รายล้อมเขาพระสุเมรุหรือองค์พระธาตุเจดีย์ เชิงรูปสามเหลี่ยมหรือรูปโค้งแบบล้านนาโดยทั่วไปสร้างขึ้นจากไม้ แกะสลักเป็นลวดลายต่างอย่างหนาแน่นเต็มพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นลายนาคเกี้ยวหรือพญานาคพันกันหลายตัว ลายดอกไม้ ลายป่าเขา แต่โดยมากจะพบลายพญานาคมากที่สุด มักตกแต่งด้วยการเขียนสีและประดับกระจก ที่ส่วนฐานของสัตตภัณฑ์จะทำเป็นรูปสัตว์รองรับ ซึ่งมีตัวอย่างสัตตภัณฑ์ที่หายากเก็บไว้หลายแห่ง เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัยลำพูน หอคำไร่แม่ฟ้าหลวงเชียงราย เป็นต้นสัตตภัณฑ์อีกแบบหนึ่งเป็นแบบขั้นบันได รูปร่างเหมือนชื่อกว้างประมาณ 1 เมตร เป็นฝีมือช่างเมืองแพร่และน่าน สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะของชาวไทลื้อ ประดับเชิงเทียนตามริมบันไดทั้งสองข้าง ข้างละ 3 เล่มและที่กลางบันไดด้านหลังอีกหนึ่งเล่ม สัตตภัณฑ์แบบนี้ไม่มี การตกแต่งมากเท่าแบบแรกและเป็นสัตตภัณฑ์ที่หาชมยาก ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่นที่พิพิธภัณฑ์วัดหลวง จังหวัดแพร่ ,วัดหนองแดง อ.เชียงกลาง จังหวัดน่านและวัดร้องแง อ.ปัว จังหวัดน่าน
ความหมายของ สัตตภัณฑ์ ตามความหมายทางธรรมในทางพุทธศาสนาว่าคือ โพธิปักขิยธรรม คือธรรมที่เป็นแนวทางแห่งความรู้ธรรมหรือแนวทางที่จะเข้าสู่ความเป็นพุทธะมีอยู่ 7 ประการคือ สติ ความระลึกได้ ,ธัมมวิจัย การวิเคราะห์ วิจัยพระธรรม ,วิริยะ ความพากเพียร ,ปิติ ความอิ่มใจพอใจ ,ปัสสิทธิ ทำใจได้ , สมาธิ ทำจิตใจแน่วแน่มั่นคง ,อุเบกขา วางเฉยจากสิ่งวุ่นวายทั้งปวง
สัตตภัณฑ์ที่เก่าแก่ มีความสวยงามและหาชมได้ยากจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์หริภุญชัย ซึ่งเป็นของเก่าทำด้วยไม้สักสลักปิดทองประดับกระจกสี กึ่งกลางด้านบนสลักเป็นรูปหน้ากาลหรือราหูคายนาค ซึ่งนาคนี้ต่างก็คายนาคตัวต่อๆไปและเกี้ยวกระหวัดกัน มีรูปแบบสวยงามจัดเป็นศิลปกรรมชิ้นสำคัญที่สวยงามชิ้นหนึ่ง บริเวณฐานของสัตตภัณฑ์นี้มีจารึกอักษรล้านนาไว้ว่า “สตินนฺ วัตตเมธานฺ อโหวัตตถานฺ มิสสเยเมตตยสตเก พุทธสาสเนตานฺ นิพพานฺ ปรมสุขขฺ จุลศักราช 1279 ตัวปี เมืองไส้มหามูลศรัทธา หมายมี แม่เจ้าเฮือนแก้วเป็นเก๊า พร้อมด้วยบุตรา บุตรี จุกคนก็สร้างยังสัตตภัณฑ์ถวายพระเจ้าแก้วเจ้า มหาจินะตุ๊เจ้า เมื่อเดือนวิสาขเม็งวัน 7 ไต เมืองไส้ พ.ศ.2460″แปลได้ว่า เจ้าแม่รถแก้วมารดาเจ้าจักรคำขจรศักดิ์พร้อมด้วยบุตร ธิดาสร้างถวายพระพุทธรูปประธานวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อเป็นพุทธบูชาเมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาข จ.ศ.1279 (พ.ศ.2460)
ปัจจุบันพุทธศิลป์เครื่องไม้ที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาไม่ค่อยมีการสร้างขึ้นอีกแล้ว แต่ที่มีเหลืออยู่ก็นับว่ามากพอที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ซึ่งถ้าเทียบกับภาคอื่น ๆ ของประเทศแล้ว ในดินแดนล้านนายังนับว่ามีพุทธศิลป์เครื่องไม้ต่าง ๆ มีมากกว่าในที่อื่น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น