เปิดประวัติ เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบ L-39

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 กองทัพอากาศ มีแผนจะปลดประจำการเครื่องบินฝึกแบบที่ 11 (T-33A) ของฝูงบิน 561 กองบิน 56 จังหวัดสงขลา โดยเครื่องบินรุ่นนี้ ทำหน้าที่เป็นเครื่องบินฝึกพร้อมรบให้กับนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ ในการที่จะเตรียมก้าวไปทำการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงในขณะนั้น ประกอบด้วย เครื่องบินแบบ F-5 A/B/E/F และเครื่องบินแบบ F-16 A/B ดังนั้นกองทัพอากาศ จึงกำหนดและวางแผนในการจัดหาเครื่องบินฝึกแบบใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ “เครื่องบินฝึกขับไล่” ให้กับนักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ
กองทัพอากาศได้ขอเสนอกระทรวงกลาโหมในการจัดซื้อเครื่องบินฝึกและขับไล่แบบ L-39 (Aero L-39ZA/ART) จากบริษัท แอโร โวโดโชดาย เนชันแนล ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเชค) โดยจะได้รับการปรับปรุงให้มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธแบบตะวันตกโดยอิสราเอล (IAI) อาทิ ระบบการใช้อาวุธ จรวดนำวิธีอากาศสู่อากาศ แบบ AIM-9 ไซน์ไวด์เดอร์ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ (Fighter Lead-In Trainer)
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 ครม.ได้อนุมัติให้กองทัพอากาศก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2536 – 2539 เพื่อจัดซื้อเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ L-39 ZA/ART จำนวน 36 เครื่อง พร้อมทั้งอะไหล่ บริภัณฑ์ภาคพื้น และเครื่องช่วยฝึก โดยแผนเดิมนั้น กองทัพอากาศ มีความต้องการเครื่องบินแบบนี้ 50 – 60 เครื่อง เพื่อบรรจุประจำการใน 5 ฝูงบิน แต่รัฐบาลขณะนั้นตัดงบประมาณลงดังกล่าวเพื่อความเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 22 – 26 กันยายน พ.ศ.2536 ซึ่ง กระทรวงกลาโหม ร่วมกับ บริษัท ชินเป้า แอนด์ เซมส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดนิทรรศการและการแสดงการบิน “THAI AIRSHOW’93” ณ ฐานบินกำแพงแสน โรงเรียนการบิน บริษัทผู้ผลิตได้ส่งเครื่องบินเครื่องแรกหมายเลข 10111 มาร่วมแสดงและบินสาธิตในงานด้วย
ปี 2537 กองทัพอากาศ ได้เริ่มทยอยรับมอบและบรรจุประจำการเครื่องบินแบบ L-39 ZA/ART จำนวน 36 เครื่อง (ภายหลังจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 4 เครื่อง) โดยรับมอบชุดสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 เครื่องบินทั้งหมดแบ่งเข้าบรรจุประจำการในฝูงบิน 101 , ฝูงบิน 102 กองบิน 1 นครราชสีมา และฝูงบิน 401 กองบิน 4 ตาคลี โดยกำหนดชื่อเป็น “เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1” หรือ “บ.ขฝ.1” ในช่วงแรกได้มีการจัดตั้งเป็น “ฝูงบินฝึกแบบรวมการ” ณ กองบิน 1 เพื่อทำการฝึกและการปฏิบัติบำรุงรักษาอากาศยานรวมกัน จนกระทั่งเกิดความพร้อมในการปฏิบัติงาน จึงแยกการปฏิบัติ
เครื่องบิน L-39 เป็นเครื่องบินฝึกที่ได้รับการพัฒนาโดยประเทศเชคโกสโลวาเกีย เริ่มทำการบินเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2511 และเริ่มเปิดสายการผลิตในปี 2515 เข้าประจำการในกองทัพอากาศเชคโกสโลวาเกีย ในปี 2517 เริ่มประจำการในกองทัพอากาศสหภาพโซเวียต ในปี 2521 เครื่องบิน L-39 นับเป็นเครื่องบินฝึกไอพ่นมาตรฐาน สำหรับกองทัพอากาศ ในกลุ่มประเทศองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ และกลุ่มประเทศพันธมิตร โดยมีการผลิตเข้าประจำการรวม 2,800 เครื่อง สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนมีประจำการใน กองทัพอากาศไทย เวียดนาม และกัมพูชา
ปัจจุบันเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 ประจำการอยู่ในฝูงบิน 401 กองบิน 4 และ ฝูงบิน 411 กองบิน 41 โดยนอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ฝึกนักบินขับไล่พร้อมรบแล้ว ยังคงปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ เข้าร่วมการฝึก COBRA GOLD, COPE TIGER โดยมีผลงานเด่นในการได้รับรางวัลชนะเลิศในหลายประเภทของการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2537 ปีแรกที่ประจำการ – ปัจจุบัน นอกจากนี้ L-39 ยังเคยทำหน้าที่เครื่องบินมิตรภาพทำการบินเยือนมิตรประเทศอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ขอบคุณภาพ และข้อมูล พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น