ชุมชนเมืองสาตร กับงานฝีมือ “ข้าวถัก”

เรื่องราวของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอีกชุมชนหนึ่ง ที่ในวันนี้กลายเป็นแบบอย่างของสังคมที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ ชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทเขินบ้านเมืองสาตร จังหวัดเชียงใหม่ ตามตำนานเล่าว่าพวกเขามีถิ่นฐานดั่งเดิมอยู่ที่เมืองสาดใกล้กับเมืองเขมรัฐตุงคบุรีหรือเวียงเชียงตุง ในอดีตการเดินทางไปเมืองนี้จากเชียงตุงต้องใช้เวลาเดินทางถึง 7 วัน 7 คืนสมัยของพระยากาวิละเรืองอำนาจในยุคฟื้นม่านล้านนาหรือ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” ช่วงเวลาดังกล่าวเมืองเชียงใหม่ถูกยึดครองโดยพม่า พระยากาวิละจึงรวบรวมไพร่พลและยกทัพไปตีหัวเมืองต่างๆ ตั้งแต่เมืองเล็กเมืองน้อยในเขตเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง เมืองลื้อ ขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนาของจีน อพยพชาวบ้านจากท้องถิ่นต่างๆให้พาครอบครัว ลูกเมีย บ่าวไพร่ลงมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ในปีที่สิรินรธาโป่ม่านย้ายมาครองเมืองสาด ชาวบ้านเมืองสาดถูกกวาดต้อนลงมาโดยมี หมื่นหลวง หมื่นน้อย เจ้าพ่อเมืองสาด แสนเมืองมา น้อยวงศ์เมืองแจด ลงมาเป็นข้าราชบริพาร หลังจากที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาทางเมืองฝางใช้เวลาเดินเท้าจากเมืองสาดมาถึงเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 16 คืนเข้ามาตั้งนิวาสสถานที่ริมฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง
ตามตำนานของชาวเมืองสาดที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เมืองสาตร” เล่าว่า ในอดีตพวกเขาสืบตระกูลมาจากต้นตระกูลใหญ่ 7 ตระกูลคือ ตระกูลอุ้ยปัน ตระกูลอุ้ยป๊ก ตระกูลอุ้ยด้วง ตระกูลอุ้ยปวน ตระกูลอุ้ยผัด ตระกูลอุ้ยเฟยและตระกูลอุ้ยทา หลังจากที่พวกเขาอพยพมาอยู่เชียงใหม่ การดำเนินชีวิตแบบดั่งเดิมพื้นบ้านไทเขินได้เกิดการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมความเชื่อ ภาษาและประเพณี ชาวเมืองสาตรกลายเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่อย่างกลมกลืนโดยสมบูรณ์ด้วยความที่คนเมืองสาตรมีรากเหง้ามาจากชาวไทเขิน มีความเชื่ออย่างเคร่งครัดต่อพุทธศาสนา เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำไร่นาจึงมักจะหันหน้าเข้าสู่วัด ซึ่งสังเกตได้จากงานบุญสำคัญทางศาสนาที่เกิดขึ้นในทุกเดือน เช่นงานบุญทานข้าวใหม่ งานบุญปี๋ใหม่เมือง งานบุญสรงน้ำพระ งานบุญก๋วยสลาก งานบุญเข้า-ออกพรรษา งานยี่เป็งและงานปอยเล็กปอยน้อยอีกมากมาย แต่นั่นอาจไม่สำคัญไปกว่าการที่ลูกหลานชาวเมืองสาตรรุ่นต่อ ๆ มา
มีสำนึกที่จะสืบทอดวิถีวัฒนธรรมและขนบประเพณีของบรรพชนไทเขินไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่เพียงแต่งานฝีมือการทำโคมยี่เป็งที่มีชื่อเสียงที่สุดของเชียงใหม่ ซึ่งทุก ๆ ปีจำนวนโคมยี่เป็งที่ออกวางขายในเชียงใหม่กว่า 2 ใน 3 มาจากฝีมือของคนในชุมชนเมืองสาตรแห่งนี้ ภูมิปัญญาในการถักเมล็ดข้าวเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาก็เป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองสาตรยากที่ชุมชนใดจะลอกเลียนแบบการถักเมล็ดข้าวของชุมชนเมืองสาตรปัจจุบันเหลือแม่ครูฝีมือดีอยู่เพียงไม่กี่คน เนื่องด้วยศิลปะการถักข้าวต้องใช้สมาธิและความปราณีตอย่างสูง ด้วยเหตุที่ขั้นตอนการทำละเอียดยุ่งยากจึงไม่เป็นที่สนใจของคนสมัยนั้น ผนวกกับความเจริญทางเทคโนโลยีจึงทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ ออกไปหางานทำอยู่ในเมืองมากขึ้นเหลือไว้เพียงคนรุ่นหลังไม่กี่คนเท่านั้น มาวันนี้ภูมิปัญญาอันล้ำลึกในการเรียงร้อยเมล็ดข้าวเปลือก ถักทอขึ้นเรียกว่า “ข้าวถัก” เครื่องใช้ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา ที่สำคัญของคนในชุมชนกำลังได้รับการ “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาอีกครั้ง
ข้าวถักในความหมายของคนล้านนา เป็นเครื่องสักการะที่ใช้บูชาเบื้องสูงมาแต่โบราณ การถักเรียงเมล็ดข้าวเปลือกขนาดเท่ากัน จำนวนอย่างเมล็ดอย่างเป็นระเบียบแล้วนำมาล้อมรอบเหรียญชนิดต่างๆ ประกอบกันเป็นต้นวงไหวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในโอกาสงานบุญสำคัญของพวกเขาด้วยความเชื่อว่าจะได้รับอานิสงฆ์ผลบุญแห่งการให้ทานทั้งในโลกนี้และโลกหน้า รวมทั้งจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เปรียบประดุจดั่งเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกลงบนพื้นดินหนแห่งใดก็ตาม มักจะเจริญงอกงามขึ้นมาสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้กับผืนแผ่นดินอย่างทั่วถึงขนบประเพณีที่มีรากแก้วทางความคิดอันมั่นคงเช่นนี้เอง ทำให้การถักเมล็ดข้าวของคนในชุมชนเมืองสาตรมิได้วูบไหวไปตามกระแสของสังคมเมือง ที่หลั่งไหลถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง จนบางครั้งแทบจะกลืนกินตัวตนที่แท้จริงของเราจนหมดสิ้น เหนือสิ่งอื่นใด รากแก้วอันมั่งคงเช่นนี้ยังทำให้อดีตผู้ที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐาน กลับยืนหยัดรักษาความเป็นตัวของตนเอง เอาไว้อย่างเหนียวแน่นและควรค่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนอื่นได้เรียนรู้.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น