ไปดูวัดเก่าที่ “หลวงพระบาง”

หลวงพระบางนั้นมีชื่อเดิมว่า เมืองซัว อันหมายถึงดินแดนแห่งสรวงสรรค์เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงดงเชียงทอง เพราะเป็นดินแดนที่มีทองคำมาก กระทั่งในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธานี กษัตริย์ลาวองค์ที่ 24 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองล้านช้าง เรียกว่า “พระบาง” อันเป็นที่มาของการเรียกเมืองเชียงทองว่า “หลวงพระบาง”ที่หลวงพระบางมีวัดวาอารามที่สวยงามด้วยเชิงชั้นศิลปะและสถาปัตยกรรม อันเป็นเอกลักษณ์เด่นของล้านช้าง เช่น วัดเชียงทอง ถือได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง วัดนี้มีผู้ให้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวโดยแท้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่างปี พ.ศ.2101-2103) ภายในโบสถ์มีพระประธานองค์ใหญ่ลักษณ์งดงามตามแบบศิลปกรรมล้านช้าง ตามเสาและผนังโบสถ์เขียนลวดลายปิดทองบนพื้นรักสีดำ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติทศชาติชาดก ด้านข้างอุโบสถมีหอพระพุทธไสยานสน์เล็ก ๆ ทาพื้นผนังสีชมพู ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปต้นไม้ เป็นภาพเรื่องราวในตำนานพื้นบ้าน สุดยอดพุทธศิลป์สกุลช่างล้านช้างหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคงมีการทำขึ้นใหม่เมื่อครั้งที่มีการซ่อมแซมวัดเชียงทอง ในปี พ.ศ.2471
ในบริเวณวัดเชียงทองยังมีสิ่งที่น่าสนใจ และศิลปกรรมล้านช้างที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งคือ โรงเก็บราชรถ ที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ ปี พ.ศ.2502 โรงราชรถได้รับการออกแบบตกแต่งลวดลายด้วยการแกะสลักอย่างสวยงาม โดยเพียตันช่างประจำพระราชวังหลวงพระบางที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผนังด้านหน้าตั้งแต่หน้าบันลงมาถึงพื้น สามารถถอดออกเพื่อเคลื่อนราชรถได้ ประตูด้านหน้าแกะสลักเรื่องราวรามเกียรติ์ บานหนึ่งเป็นรูปนางสีดาลุยไฟสีเหลืองอร่ามนับเป็นงานศิลปกรรมล้านช้างสมัยใหม่ที่ชาวหลวงพระบางภูมิใจวัดวิชุนราชสิทธาราม ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีอายุนานนับ 500 ปี วัดนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระบาง แต่องค์พระถูกอัญเชิญไปเก็บไว้ในพระราชวังหลวง หลังจากที่เมืองหลวงพระบางถูกพวกฮ่อบุกเข้าปล้นทำลาย นอกจากนั้นในวัดวิชุนราชสิทธาราม ยังมีพระสถูปเก่าแก่รูปทรงคล้ายแตงโมครึ่งซีก พระสถูปองค์นี้เคยชำรุดพังหลายครั้ง และถูกฮ่อรื้อรานค้นหาสมบัติ แต่ปรากฏว่าเพิ่งมีการค้นพบกรุพระพุทธรูปทองคำและศิลปวัตถุเครื่องเงิน เครื่องทอง จำนวนมากในการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2427 นี่เอง
นอกเขตวัดตามถนนเล็ก ๆ หลังวัดเชียงทองยังมีชุมชนบ้านเรือนที่น่าแวะเยี่ยม ตามถนนศรีสว่างวงศ์นั้นมีบ้านเรือนในแบบโคโรเนียล สไตล์ผสมผสานระหว่างอารยธรรมล้านช้างกับสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส กลางเมืองหลวงพระบางมีภูเขาลูกย่อม ๆ ลูกหนึ่งชื่อ ภูศรี บนยอดประดิษฐาน พระธาตุจอมภูศรี องค์พระธาตุเป็นสีทองผ่องอำไพ ถึงแม้พระธาตุองค์นี้มีอายุไม่น่าเกินหนึ่งศตวรรษ แต่ความโดดเด่นอร่ามเรืองที่สถิตอยู่สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใดในหลวงพระบาง บวกตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุและรอยพระพุทธบาทก็เพียงพอที่จะทำให้พระธาตุองค์นี้มีฐานะเป็นพระธาตุประจำเมืองในทำนองเดียวกับพระบรมธาตุดอยสุเทพแห่งเมืองเชียงใหม่พระธาตุจอมภูศรี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท กษัตริย์องค์ที่ 56 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ในปี พ.ศ.2247 บนยอดเขาเล็ก ๆ สูง 150 เมตร ต่อมาได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2457 องค์พระธาตุฉาบด้วยทองคำ นอกจากพระธาตุจอมภูศรีจะเป็นที่เคารพสักการะของชาวหลวงพระบางแล้ว ข้างบนยังมีหอกลองซึ่งเคยใช้ตีบอกเวลาให้กับชาวหลวงพระบาง ห่างจากพระธาตุไม่ไกลนักบริเวณหน้าผาแคบเป็นที่ตั้งของปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งยังหลงเหลือให้ดูเป็นอนุสรณ์ของสงครามอินโดจีน ทางขึ้นพระธาตุจอมภูศรี ต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 328 ขั้น ตลอดสองข้างทางขึ้นร่มรื่นไปด้วยต้นจำปาลาว หรือ ต้นลั่นทมบ้านเรา บริเวณบนยอดภูสรีสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน ทางทิศตะวันตกริมแม่น้ำโขง เมื่อมองลงมาเห็นพระราชวังหลวง อันเป็นที่พระประทับของอดีตเจ้ามหาชีวิตลาว
พระราชวังหลวงพระบาง เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ นานถึง 54 ปีเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตเจ้าศรีสว่างวัฒนาจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี พ.ศ.2518 รัฐบาลลาวได้จัดให้พระราชวังหลวง เป็นหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง  ปิดฉากสุดท้ายของราชสำนักล้านช้างหลวงพระบางเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถเดินเที่ยวได้ในวันเดียว ทว่าในวันเดียวนั้น เราจึงสามารถพบเห็นเรื่องราวหลากหลาย ที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำได้แทบไม่พอ หากใครไม่เชื่อลองมาเยือนเมืองหลวงพระบางดู เมืองเล็กแต่ไม่ธรรมดา หากแต่เป็น
เมืองที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลไว้มากมาย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น