ล้งผลไม้ไทยจุก มาตรการตลาดจีนเข้มข้น หวั่นลำไยเจ๊ง!

เครือข่ายชาวสวนลำไยภาคเหนือกล่าวว่า แม้สถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดลำไยในภาคเหนือปีนี้ ราคาจะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยสดช่อ เกรดเอเอ.และเกรด เอ.เฉลี่ยที่ 38-39 บาท/กก. และสดร่วง เกรดเอเอ.24-25 บาท/กก. เกรด เอ.16-18 บาท/กก. แต่ปัญหาปีนี้ชาวสวนส่วนใหญ่ เช่น ลำพูน,เชียงใหม่ เผชิญภัยแล้ง ส่งผลให้ลำไยขาดน้ำ ผิวปริแตก มีสภาพที่เรียกว่า ลำไยยิ้ม จำเป็นต้องเร่งเก็บผลผลิตออกขาย และเดือนนี้ ก.ค. เป็นช่วงผลผลิตกระจุกตัว ก็อาจส่งผลต่อราคาได้กลุ่มผู้ประกอบการล้งผลไม้ในพื้นที่ภาคเหนือยอมรับว่า กฎกติกาใหม่ที่ทางการจีน เข้มงวดในการนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด (ทุเรียน,ลำไย,มะม่วง,มังคุด,ลิ้นจี่) จากเดิมโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน จีเอ็มพี (GMP: Good Manufacturing Practice การปฏิบัติที่ดีในการผลิต) สวนหรือแหล่งเพาะปลูกผ่านจีเอพี. (GAP : Good Agricultural Practice) มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ซึ่งเป็นมาตรการที่มีข้อกำหนดหรือเกณฑ์ทางการเกษตรที่ดี 8 ข้อ เช่น แหล่งน้ำ ,พื้นที่ปลูก ,การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร , การจัดกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ ปรากฎว่ายังมีมาตรการที่ทางการจีนจะนำมาใช้คือดีโอเอ.ซึ่งเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมาอีก ปัจจุบันที่ขึ้นทะเบียนกว่า 600 แห่ง ผ่านหลักเกณฑ์ราวๆ 300 กว่าแห่งเท่านั้น เกรงว่าหากเป็นช่วงผลผลิตประดังออกมาในเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้จะมีผลกระทบ ในการส่งออกเพื่อนำเข้าตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักผลไม้ไทย ทุกแหล่งผลผลิตในทุกๆฤดูกาล
ในตอนนี้ ล้งส่วนหนึ่งไม่ได้มองด้านลบว่าเป็นการกีดกัน ให้บางกลุ่มที่เตรียมรับมือเรื่องนี้มาล่วงหน้า เพราะจริงๆแล้ว มาตรฐานที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นจีเอพี.การทำเกษตรที่ดี, มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ เอสพีเอส (SPS : Sanitary and Phytosanitary Measures) ตลอดจน มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น หากคิดจะอยู่ในวงการค้าผลผลิตเพื่อส่งออกต้องเรียนรู้ เข้าใจกระบวนการตลาดเหล่านี้ เนื่องจาก แต่ละประเทศ มีมาตรฐานเพื่อดูแล สุขภาพผู้บริโภค ทั้งนั้นแต่มาตรการนี้ออกมาเร็วเกินไป จนไม่มีเวลาที่ล้งบางส่วนจะปรับตัว และผลที่ตามมาคือจะมีกลุ่มได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในวงการล้งในขณะที่เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มในกระบวนการผลิตที่ดี ส่วนราคาจะดีเป็นธรรมหรือไม่ก็อีกเรื่อง
ด้านผู้ประกอบการส่งออก และเจ้าของโรงคัดบรรจุลำไยในเชียงใหม่ เล่าว่ามีพรรคพวกที่เป็นล้งทุเรียน, และมังคุดแถวๆภาคตะวันออก ยืนยันว่าปีนี้ล้งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนดีโอเอ.จะส่งออกไม่ได้ ในอนาคต คงต้องหาตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หวังแค่ตลาดจีน เพราะแหล่งผลผลิตในจีน ตามประเทศเพื่อนบ้าน รายรอบไทย รวมถึงล้งจีนที่มีกระจายในแต่ละแหล่งผลิต จะกลายเป็นเครือข่ายที่ทรงอิทธิพล ควบคุมกลไกตลาดทั้งระบบล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งว่าไทยได้ประสานขอให้จีนผ่อนผันในฤดูกาลนี้ไปก่อน ซึ่งปีหน้าสวนที่ได้จีเอพี.เท่านั้น จึงจะส่งเข้าจีนได้ การขอขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนตรวจสอบสวนใช้เวลา เกรงว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้น ขณะนี้รอคำตอบจากทางการจีน

ร่วมแสดงความคิดเห็น