ร่องรอยอารยธรรม โยนกกรีก – โยนกหนองแส

ถนนสายลำปาง – เด่นชัย เป็นเส้นทางจากตัวเมืองไปสู่ศูนย์ราชการและศาลากลางใหม่ของจังหวัดลำปาง ที่ทำการขนส่งจังหวัดลำปาง ศาลจังหวัดลำปาง สร้างบนเนินดอยพระบาท ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นเส้นทางผ่านของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนจุดเริ่มขึ้นเนินดอยพระบาทคือ วิทยาลัยโยนก “ชื่อคำนิทานตำนานเมือง” ที่พบบนไฮเวย์สายนี้ก็เห็นจะได้แก่ชื่อคำว่า “โยนก” นักศึกษาและผู้สนใจตำนานเมืองเหนือที่ยังไม่คุ้นกับความรู้จักเรื่องราวความเป็นมาของคำนี้ น่าจะได้ทราบดังนี้
โยนกตามความหมายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2492 โยนก น.ชื่อชนชาติกรีก ชาวอินเดียเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า Lonia ; หรือเรียกชาวไทยทางล้านนาไทย,เยาวนะ ก็เรียก.(ป.)
โดยนัยนี้ประเด็นศึกษาเรื่องราวของโยนกจึงมีสองประการสำคัญคือ
1. โยนกที่เกี่ยวกับชื่อที่ชาวอินเดียเรียกชนชาติกรีกที่มีเมืองหลวงอยู่เอเธนส์ สมัยแผ่อำนาจมาถึงลุ่มน้ำสินธุตักศิลา
2. โยนกที่เป็นชื่อทางอารยธรรมทางศาสนวงศโบราณของชนชาติกรีก ไม่เกี่ยวกับเอเธนส์แต่เกี่ยวกับลุ่มทะเลสาบหนองแส เมืองหลวงอาณาจักรน่านเจ้า แผ่อำนาจรัฐลงมาจัดตั้งราชวงศ์สิงหนวัติต้นกำเนิดอำนาจโยนกที่เป็นคนไทยที่แอ่งลุ่มโขงเจ้าพระยาในประการต้น ชนชาติกรีกเกี่ยวข้องกับอินเดีย โดยเปอร์เซียเคยแผ่อำนาจไปครอบครองดินแดนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วยังแผ่มาถึงลุ่มน้ำสินธุของอินเดีย
ครั้นในยุตพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีกเอเธนส์ ปราบพื้นที่เก่าเปอร์เซียทั้งส่วนของกรีกเก่า อียิปต์ และเมืองบริวารก็ได้ครบครองถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ สืบจนถึงเอเธนส์ถล่มด้วยอำนาจโรมัน ความเจริญเติบโตด้วยอำนาจตกค้างของจักรวงศ์กษัริย์กรีกยุคเมนานเดอร์ ณ เมืองในลุ่มน้ำสินธุ เป็นกษัตริย์จอมปราชญ์สนพระทัยพุทธศาสนา ได้ขยายอำนาจถึงเขตุมัธยมประเทศในอินเดีย ได้พบพระนาคเสน ได้เปิดการโต้ปัญหาธรรมะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ตำราพุทธศาสนาแนวปุจฉา วิสัชนาเล่มแรกของโลก จนกลายเป็นตำรามิลินทปัญหาอันเป็นเรื่องราวของกษัตริย์เมนานเดอร์ หรือ พระยามิลินทกับพระนาคเสน ประวัติบั้นปลายของเมนานเดอร์ผนวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ประวัติราชวงศ์โยนกกรีก-เอเธนส์ ส่วนนี้จึงจบลงที่อินเดีย
โยนกที่ก่อให้เกิดพงศาวดารในประเทศไทย จากเอกสารพงศาวดารโยนก พงศาวดารภาค 61 และตำนานเมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน ของพระครูลักจวุฒาจารย์ วัดพระธาตุเจดีย์หลวงเชียงแสนได้จากเมืองโกรัฐฉาน พิมพ์ พ.ศ.2516 กล่าวถึงสิงหนวัติกุมารปฐมกษัตริย์โยนกเชียงแสน เป็นวงศาไตเมือง (ไทเมือง) ศาสตราจารย์เจีย แยนจอง นิยามความหมายไตเมือง หรือ ไทเมืองคือคนเมือง คำว่า “ไตบ้านเหนือไตบ้านใต้” หมายถึง คนบ้านเหนือบ้านใต้ยังเป็นภาษาใช้ในตระกูลภาษาไต-ลาว ในทุกวันนี้ ยังมีชาวไทยถิ่นเหนือ ภาคเหนือตอนบนแห่งประเทศไทยเรียกตนว่า “คนเมือง”
ตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารภาค 61 กล่าวถึงเหตุการณ์ท้าวมหาพรหมโยนกเชียงแสน เคยปราบขอมถึงเขตตั้งเมืองกำแพงเพชร บนแอ่งเจ้าพระยาเป็นปฐม เป็นยุคอาณาจักรน่านเจ้าโบราณที่ขึ้นอำนาจต่อหนองแสหลวง ครั้นถึงยุคของศิริชัยเชียงแสนมีเหตุการณ์ที่วงศ์กษัตริย์ไทยต้องผลัดแยกเป็นสองวงศ์ ด้วยเหตุแห่งการคุมคามจากอำนาจข้าศึกภายนอกที่มีกำลังมหาศาลกว่า ต่อมาวงศ์โยนกกษัตริย์โยนกเชียงแสนก็เผชิญเหตุการณ์ร้ายแรง โดยภัยธรรมชาติ แผ่นดินถล่มน้ำท่วมเขตปราสาทเมือง เหลือแต่ไพร่เสนาเมืองตั้งเวียงปรึกษาสิ้นขัติยวงศ์โยนกนาคนครฝ่ายเหนือ นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา เหตุการณ์ในศตวรรษดังกล่าวจักรวงศ์หนองแสหลวง ก็ถูกคุกคามโดยกองทัพกุบไลข่านมองโกล ตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นในยุคหนองแสหลวง (เมืองตาลีที่เจดีย์สามองค์) ขึ้นอำนาจราชวงศ์มองโกล อำนาจเก่าหนองแสหลวงสลายลง จึงเกิดารตั้งอำนาจรัฐต่างๆที่กระจายอยู่ในแอ่งลุ่มโขงเจ้าพระยา เวียงปรึกษาอันป็นวงศ์เสมาอำมาตย์เก่าโยนกนาคพันธ์ที่ถล่มจนขาดกษัตริย์สืบสันติวงศ์ จึงไปขอพระยามังรายแห่งราชวงศ์ลาวจก ตั้งเป็นอาณาจักรหิรัญนครเงินยางครองเมืองเชียงราย ยุคนี้เป็นยุควัฒนธรรมเสนาอำมาตย์ไทยแต่กษัตริย์มาจากราชวงศ์ลาวจก แผ่อำนาจคุกคามหริภุญไชยตั้งพิงค์วงศ์เชียงใหม่ พ.ศ. 1839 คือ ยุคที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจเก่าของโยนกนาคพันธ์หนองแสหลวงเมืองตาลี
ตำนานรัตนพิมพวงศ์แต่งโดยพระพรหมราชปัญญาภิกขุ ราวพ.ศ.1979 สมัยอาณาจักรสามฝั่งแกนเชียงใหม่ ยุคพระมหามนีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตพบที่เชียงรายมาประดิษฐาน ณ เขลางค์ ความในปริเฉทแรกว่า เขียนปางเมือพระรัตนพิมพ์ประดิษฐานในเมืองลำปาง
“โยนกรัฐ” (แสง มนวิทูร แปล) เนื้อหาตำนานกล่าวถึงพระมหามณีรัตนปฏิมากรสร้างโดยพระนาคเสนกับกษัตริย์ที่มีไพร่บริวารเป็นชาวโยนก แสดงถึงความเกี่ยวโยงตำนานพระพุทธรูปในยุคกษัตริย์วงศ์โยนกกรีก เพราะกรีกคือชนชาติแรกที่สร้างพระพุทธรูปแทนสัญลักษณ์
ธรรมจักรเจดีย์ในอินเดีย คำว่า “ลำปางโยนกรัฐ” ในหนังสือพิมพฉบับแสง มนวิทูร แปล เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธรูป พระนาคเสน ปราชญ์ราชากับไพร่บริวารที่เป็นชาวโยนก แสดงถึงอารยธรรมโยนกกรีก ซึ่งเป็นนิกายพุทธศาสนาแบบมหายาน ได้มีอิทธิพลทางคัมภีรแนวปุจฉาวิสัชนาธรรมะต่อโครงสร้างศาสนาชาวไทยโยนกในแหลมทองมาแต่โบราณพงศาวดารโยนก กล่าวถึงโยนกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนแห่งประเทศไทย ตำนานสิงหวัติกุมารกล่าวคลุมถึงวงศ์กษัตริย์ไทยลุ่มเจ้าพระยา มีท้าวสิริไชยเชียงแสนตั้งวงศ์กษัตริย์ฝ่ายใต้ที่กำแพงเพชร บอกประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตระกูลลาวจก คือชาวลัวะที่ดอยตุง ท้ายตำนานจบลงที่อำนาจรัฐเมืองฝ่ายเหนือเหลือแต่วงศ์เสนาอำมาตย์เมืองจัดตั้งเป็นเวียงปรึกษา คำว่า “โยนก” ในประเด็นที่สอง จึงเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนไทยที่สืบอารยธรรม โดยชื่อตำนานของโยนกกรีก และก็บังเกิดเป็นเรื่องราวของชาวไทยโยนกในพื้นที่แหลมทอง ในยุคอำนาจโยนกหนองแส
เราจึงน่าสรุปความหมายโยนกสองประการสั้น ๆ ได้ว่า “โยนกเอเธนส์” ที่หมายถึงชื่อชนชาติกรีก กับโยนกหนองแส ที่หมายถึงชื่อชนชาติไทยด้วยประการฉนี้.
บทความโดย
อ.ศักดิ์ รัตนชัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น