เที่ยวเมืองน่าน ไหว้พระธาตุแช่แห้ง

พระบรมธาตุแช่แห้ง ถือเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านมาช้านาน พระบรมธาตุแห่งนี้มีอายุราว 600 ปี เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในแผ่นดินล้านนา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองน่านมีเจ้าผู้ครองนครติดต่อกันจำนวน 64 พระองค์ แต่เริ่มมีความเด่นชัดในสมัยพระกานเมืองครองเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ.1896-1906 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ครองกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทได้เกณฑ์ พระยากานเมืองไปสร้างวัดหลวงอภัยขึ้น ณ สถานที่ตั้งของสวนหลวงที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้ปลูกมะม่วง ต่อมาภายหลังวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่า “วัดป่ามะม่วง”หลังจากเสร็จภาระกิจทั้งปวง พระมหาธรรมราชาลิไทได้มอบพระบรมธาตุให้แก่พระยากานเมือง พร้อมพระราชทานพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์ทองอย่างละ 20 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานที่เมืองวรนคร ครั้นเมื่อพระยากานเมืองกลับถึงเมืองวรนครแล้ว จึงได้นำความปรึกษาหารือกับพระมหาเถระธรรมบาล สังฑราชในยุคนั้นว่าควรจะบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ และเทวดาพึงกราบไหว้ไว้ในแผ่นดินวรนคร ณ ที่แห่งใด พระมหาเถระธรรมบาลได้กราบทูลว่า ภูมิสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินมหาบพิตรก็คือ “เนินศรีภูเพียง”
พระยากานเมือง
จึงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นและได้อัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ให้ชื่อว่าพระธาตุศรีภูเพียง ปี พ.ศ.1902 พระยากานเมืองจึงได้ย้ายเมืองวรนครมาตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองเต่า หากสืบไปภายหน้าบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็สามารถขยายเมืองให้กว้างขวางออกไปจนถึงเขตเมืองแพร่ ทว่าในปี พ.ศ.1911 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนสาย เมืองวรนครของพระยากานเมืองเกิดความแห้งแล้งขาดน้ำ พระยาผากอง โอรสของพระยากานเมืองจึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองในปัจุบัน ปล่อยทิ้งให้พระธาตุศรีภูเพียงตั้งอยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งริมฝั่งน่านนทีที่เปลี่ยนสาย ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุแช่แห้ง”บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น