ตำรวจสภ.สอง!! แจ้งแนวทางปฏิบัติ กฎหมาย มาตรการป้องกัน ปรามเด็กแว้น แข่งรถซิ่งในทางสาธารณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจ.แพร่ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ สว่างประเสริฐ ผกก.สอง จ.แพร่ สภ.สอง แจ้งประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันปราบปรามเด็กแว้น แข่งขันรถในทาง สรุป แนวทางการปฏิบัติ  กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตราการควบคุมการปฏิบัติฯ
1.แนวทางการปฏิบัติ มาตรการป้องกัน
1.ให้สืบสวนหาข่าว รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหัวหน้ากลุ่มแข่งรถในทาง ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม แหล่งรวมตัวหรือจุดนัดหมาย ร้านขายอะไหล่ อุปกรณ์ตกแต่ง หรือรับดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์ สภาพรถ โดยให้จัดทำศูนย์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลไว้เป็นระบบ สามารถตรวจสอบได้ทันที
2.ให้ออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันการกระทำผิด หรือการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งขันรถในทาง ตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งจากทุกช่องทาง โดยประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติโดยลำพัง
3.ให้กวดขันจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายในทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง (ตามข้อหาหรือฐานความผิดที่แนบ) อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการยึดรถต้องสงสัยที่อาจใช้หรือได้มาจากการกระทำความผิด เช่น ไม่มีสำเนาคู่มือการจดทะเบียนให้ตรวจสอบ หรือไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และร้านซ่อมรถที่ดัดแปลงสภาพหรือเครื่องยนต์ หรือตกแต่งรถในลักษณะที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งรถในทาง
4.ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เข้าตรวจสอบและจับกุมร้านจำหน่ายอะไหล่ อุปกรณ์ ส่วนควบของรถ ที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และพนักงานฝ่ายปกครอง เจ้าพนักงานส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535
5.ให้ขอความร่วมมือจากประชาชน ผู้นำชุมชน มูลนิธิ สมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรม เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ ให้แจ้งข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับกลุ่มแข่งรถในทาง ผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ทั้งนี้ให้ศูนย์รับแจ้งข้อมูลเบาะแสแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทราบในทันที แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าสถานีฯ ทราบในคราวเดียวกัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและจับกุมการแข่งรถในทางได้ทันเหตุการณ์
6.ตรวจสอบข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม แหล่งรวมตัวหรือจุดนัดหมายในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถในทาง เพื่อเป็นข้อมูลในการปฏิบัติ
7.ให้ขอความร่วมมือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองให้ช่วยอบรม สั่งสอน ตักเตือนและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กหรือเยาวชนในปกครองดูแลของตน มิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ โดยแจ้งให้ผู้ปกครองทราบถึงผลเสียของการกระทำดังกล่าวและโทษตามกฎหมายที่ผู้ปกครองจะได้รับหากเด็กหรือเยาวชนถูกดำเนินคดี ตลอดจนต้องไม่สนับสนุนหรือปล่อยปละละเลยให้เด็กหรือเยาวชนในปกครอง รวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อแข่งรถในทางด้วย
8.ให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน ในสถานศึกษาเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติ และให้ตระหนักถึงโทษภัยของการแข่งรถในทาง และดำเนินการด้านมวลชนสัมพันธ์ตามแหล่งชุมชน ผู้นำหมู่บ้าน ญาติ หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเกรงกลัวต่อกฎหมายในการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากความผิดที่จะเกิดกับเด็ก เยาวชน บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
9.มาตรการป้องกันและปราบปราม ให้ผู้บังคับบัญชาทุกหน่วยอบรมชี้แจงข้าราชการตำรวจในสังกัด ซึ่งเป็นบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชน ให้ดูแล อบรม สั่งสอนเด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในปกครอง ดูแลของตน เพื่อไม่ให้เข้าไปรวมกลุ่มหรือมั่วสุมหรือสนับสนุนการแข่งรถในทาง หากพบว่าเด็กหรือเยาวชนในปกครองกระทำความผิด ให้พิจารณาดำเนินการกับข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นบิดา มารดา หรือผู้ปกครองไปตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด
10.รวบรวมสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน และวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อวางแนวทางหรือมาตรการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และจัดวางรูปแบบหรือปรับแผนการปฏิบัติ รวมทั้งซักซ้อมการปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติในครั้งต่อไป
11.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลในเชิงแนะนำ ตักเตือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และเคารพต่อกฎหมายในการกระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตระหนักถึงผลกระทบจากการกระทำความผิดที่จะเกิดกับเด็ก เยาวชน ซึ่งบิดามารดาหรือผู้ปกครองอาจจะต้องรับผิดในการกระทำผิดดังกล่าวด้วย รวมทั้งการรณรงค์เพื่อขอความร่วมมือประชาชนในการแจ้งข้อมูล เบาะแส เกี่ยวกับการกระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการปราบปรามอย่างเด็ดขาดต่อไป

มาตรการปราบปราม
1.กรณีสืบทราบหรือพบเห็นว่ามีการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อจะทำการแข่งรถในทาง ให้ ผกก. หรือหัวหน้าสถานี เป็นผู้ควบคุมสั่งการ และหากเป็นกรณีเกี่ยวข้องหลายท้องที่ หรือมีการรวมกลุ่มมั่วสุมกันเป็นจำนวนมากให้รายงาน ผบก. ทราบ เพื่อให้ ผบก. หรือ รอง ผบก. ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ควบคุมสั่งการในกรณีดังกล่าว
2 .สภ. วางแผนบูรณาการใช้กำลังในการปฏิบัติ ทุกฝ่ายทั้ง สส., ป., จร., และ พงส. โดยบูรณาการสนธิกำลังจากหน่วยสนับสนุนหรือหน่วยใกล้เคียง และให้กำหนดผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ชัดเจน รวมทั้งจัดเตรียมห้องควบคุม และสถานที่เก็บรถของกลางไว้รองรับการดำเนินการ
3.การใช้อุปกรณ์เพื่อลดความเร็วของรถ และลดความรุนแรงในขณะจับกุม ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้กระทำผิด ทั้งนี้หากผู้ถูกจับขัดขวางหรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ให้ผู้จับใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการจับนั้น (ตาม ป.วิอาญา มาตรา 83 วรรคสาม) โดยให้ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
4.ให้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในทุกขั้นตอนขณะดำเนินการทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวน หรือติดตามผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีในภายหลัง 5.การดำเนินคดี ให้พิจารณาดำเนินการตามข้อ 1 ของคำสั่ง หน.คสช.ที่ 46/2558 ลง 30 ธ.ค.58 ในเบื้องต้น เช่น ยึดใบอนุญาตขับขี่, นำรถที่ต้องสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิดไปเก็บรักษา, จับกุมและควบคุมตัว เพื่ออบรมความประพฤติ โดยให้พิจารณาดำเนินคดีกับผู้แข่งขัน ผู้จัด ผู้สนับสนุน และผู้ส่งเสริมทุกข้อกล่าวหา หากไม่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ในขณะกระทำความผิด ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นคำร้องขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาต่อไป โดยให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาทุกราย หากพบว่ามีการกระทำความผิดซ้ำ ให้ขอบวกโทษหรือเพิ่มโทษ แล้วแต่กรณี
มาตรการสอบสวนขยายผล
1.กรณีผู้กระทำความผิดเป็นเด็ก หรือเยาวชนให้แจ้งบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เข้ามารับทราบการกระทำของเด็กและเยาวชนดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน วางข้อกำหนด หรือให้วางประกันเป็นจำนวนเงินตามสมควรแก่ฐานานุรูป หากเด็กหรือเยาวชนได้กระทำความผิดซ้ำอีกให้พิจารณาดำเนินคดีกับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ตามความในข้อ 2 ของคำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 ลง 22 ก.ค.58 ทั้งนี้ให้ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในพื้นที่ด้วย
2.ให้สอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดี ผู้ผลิต ครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถ หากการกระทำนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นการตระเตรียม ยุยง ส่งเสริม สนับสนุน ชักชวน จัดให้มี จัดหา เป็นธุระ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่การแข่งรถในทาง ตามความในข้อ 3 ของคำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 ลง 22 ก.ค.58

มาตรการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
2.2 พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
2.3 พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511
2.4 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522
2.5 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
2.6 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
2.7 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535
2.8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2.9 คำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 ลง 22 ก.ค.58 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ2.10 คำสั่ง หน.คสช.ที่ 46/2558 ลง 30 ธ.ค.58 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ
3.การควบคุมการปฏิบัติและพิจารณาข้อบกพร่อง ให้ทุกหน่วยดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด และ ควบคุม กำกับ ดูแล แก้ไขปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด โดยให้ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ ตร. ทั้งนี้ ตร. จะติดตามผลการดำเนินงาน และรับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งรถในทางเป็นหลัก โดยจะนำผลการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว มาเป็นเครื่องชี้วัดประสิทธิภาพของหัวหน้าหน่วยหากหน่วยใดละเลยหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการข้างต้น หรือปล่อยให้มีการแข่งรถในทาง หรือปล่อยให้เกิดเหตุหรือกระทำผิดซ้ำ ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ จะพิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ หัวหน้าสถานีตำรวจ และผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล ระดับ บก./ภ.จว. และ บช./ภ. ตามสมควรแก่กรณี

ร่วมแสดงความคิดเห็น