หลวงปู่ครูบาหน้อย ครูบาแห่งดินแดนเมืองสามฝั่งแกน

ตามคำบอกเล่าของหลวงปู่ฯว่า ในช่วงเวลา 20 ปีแห่งยุคสมัยของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ถึงแม้ระบบข่าวสารการคมนาคมต่างๆจะติดต่อถึงกันยากลำบากก็ตาม แต่กิตติศัพท์ของครูบาศรีวิชัยเดินทางไปยังสถานที่ใดก็จะพากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ไม่ขาดสาย ส่วนศรัทธาประชาชนนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเลื่อมใสครูบาอย่างล้นหลาม คราใดที่ครูบาเดินทางจากอำเภอหนึ่งไปยังอีกอำเภอหนึ่ง ก็จะมีประชาชนนับหมื่นเดินทางไปส่งเป็นขบวนประดุจกองทัพธรรม แม้เดินทางจากเชียงใหม่ไปเชียงรายก็จะมีผู้ติดตามไปเป็นขบวนใหญ่ จนทำให้พระผู้ใหญ่ผู้ปกครองมีความไม่สบายใจ บางรูปใส่ร้ายว่า ครูบาศรีวิชัยเป็น “ผีบุญ” พยายามจะยัดเยียดข้อหาร้ายแรงต่างๆให้ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถจะเอาผิดกับครูบาศรีวิชัยได้
ข่าวการมาจำพรรษาและอยู่บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารวัดสวนดอกบุพพารามและบูรณะวัดพระสิงห์ตามคำอาราธนาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี กระจายไปทั่วหัวเมือง ทุกอำเภอที่บอกกันปากต่อปาก เป็นที่ตื่นตาของศรัทธาประชาชนและพระสงฆ์จากอำเภอต่างๆที่จะได้พากันมาร่วมทำบุญ มาพบปะสักการะผู้มีบุญคือครูบาศรีวิชัยและที่ตั้งใจมารับเทศนาธรรมและปฏิบัติธรรมเพื่อหวังมรรคผลและนิพพานก็มีอยู่เป็นอันมาก
ในระหว่างปี พ.ศ.2474-2485 รวมเวลาที่ครูบาศรีวิชัยได้รับนิมนต์ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอกและวัดพระสิงห์วรมหาวิหารต่อด้วยการแผ้วถางสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น ครูบาศรีวิชัยพำนักอยู่ที่วัดสวนดอกในตอนกลางวันก็จะมีศรัทธาชาวบ้านเดินขึ้นไปสร้างถนน ขึ้นดอยสุเทพเป็นอย่างนี้นานถึง 5-6 เดือน จนถนนแล้วเสร็จ จากนั้นก็จะมาอบรมศรัทธาสั่งสอนให้ภาวนากันที่พระวิหารหลวง
หลวงปู่ครูบาหน้อยเล่าว่าครั้งหนึ่งมาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดสวนดอกนานประมาณ 1 เดือน โดยได้นำคณะศรัทธาชาวบ้านปงแม่แตง เดินทางมามอบตัวเป็นศิษย์ด้วย พอวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477 ที่ได้เริ่มจอบแรกในการสร้างถนนเข้าสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร หลวงปู่ครูบาหน้อย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสหนุ่มแห่งวัดบ้านปง ด้วยวัยเพียง 29 ปีก็นำกำลังศรัทธาแรงงานชาวบ้านมาร่วมครูบาศรีวิชัยพัฒนาถนนสู่ดอยสุเทพ จนถนนแล้วเสร็จ หลวงปู่ครูบาหน้อยย้อนไปถึงอดีตว่า ท่านได้นำพระเณรและคณะศรัทธาชาวตำบลอินทขิลมาร่วมงานทำ
บุญนี้หลายครั้งด้วยกัน ที่จำความได้มาปฏิบัติธรรมคือที่วัดสวนดอก 2 ครั้ง โดยตั้งใจที่มาเพื่อรับฟังเทศนาธรรมและอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับครูบาศรีวิชัย เช่นเดียวกับพระสงฆ์จากที่ต่างๆหลายร้อยรูปครูบาศรีวิชัยได้จัดที่พักสงฆ์ออกมาตรวจดูว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร เรียบร้อยดีหรือไม่ขนาดเหลืออะไรพอค่ำลงก็จะพากันสวดมนต์และปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมของครูบาศรีวิชัยคือ การฝึกสอนให้พิจารณาอสุภะ ความไม่สวยไม่งาม พิจารณาสังขารที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา ตักเตือนไม่ให้ประมาทในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ละเว้นจากการทำบาปทำชั่ว มาสร้างความดี ละโลภ โกรธ หลงและตั้งใจให้เป็นสมาธิทำภาวนาและเดินจงกรมการทำวัตรสวดมนต์ในสมัยนั้น มีการสวดมนต์แบบพื้นเมืองทั้งหมดครูบาศรีวิชัยนำสวด หากใครสวดไม่ได้ก็พยายามเล่าเรียนจำมาจากเพื่อนพระอาวุโสที่ติดตามครูบามานาน หรือถ้าใกล้ชิดครูบาศรีวิชัยก็จะได้รับการบอกกล่าวและฝึกอบรมเป็นการส่วนตัว ส่วนหลวงปู่ครูบาหน้อยนั้น แม้จะยังสอบนักธรรมไม่ได้ในช่วงนั้น แต่ความสนใจในการสวดมนต์ก็มีมาก สามารถเขียนอักขระพื้นเมืองและเริ่มสวดปาติโมกข์ได้บ้างแล้ว (ในระหว่างปี พ.ศ.2484-87) หลวงปู่ได้ตั้งใจเรียนนักธรรมจนสามารถสอบนักธรรมเอกได้ภายในเวลา 4 ปี จนท่านเจ้าคุณอภัยสารทะ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่แสดงความชื่นชมถึงความวิริยะอุตสาหะเป็นยอด
หลวงปู่เล่าว่า ได้ร่วมสวดมนต์กับครูบาศรีวิชัยโดยไม่ติดขัดและเมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้วก็ยังได้สวดบทอภิณณปัจจเวกขิตวา เพื่อให้รู้จักตนเองว่าเป็นใครดำรงตนอยู่สถานะอะไร สวดพิจารณาสังขารเพื่อบรรเทาความอยากตามกิเลส ความฟุ้งซ่านต่างๆให้มีสติ มีสมาธิมารวมลงในจุดเดียวกันคือ การพิจารณาสังขารว่าไม่เที่ยงแท้ มีเกิด มีป่วย มีตาย มีทุกข์ตลอดแล้วจบลงด้วยการทำความเพียรในการภาวนา เสร็จจากการภาวนาแล้วก็กลับกุฏิหรือศาลา แล้วทำความเพียรต่อ อาจจะมีการนั่งสมาธิ ภาวนาหรือเดินจงกรม ห้ามมิให้ส่งเสียงดังรบกวนกันวัตรปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย เป็นที่ชื่นชมของเหล่าศรัทธาสาธุชนเป็นอันมากเพราะท่านตั้งใจจริง ปฏิบัติจริงและยังฉันมื้อเดียวอีกด้วย ซึ่งพระที่เคร่งครัดเช่นนั้นในอดีตก็มีแต่พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น แต่สำหรับครูบาศรีวิชัยแล้ว ท่านแทบไม่ได้ว่างเว้นจากการรับนิมนต์ จากการเฝ้าติดตามของศรัทธาชาวบ้านและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่างไม่ว่างเว้น หลวงปู่เล่าว่า แม้ครูบาศรีวิชัยจะต้องอธิกรณ์จากการกล่าวหาของพระสงฆ์ฝ่ายปกครองก็ยังมีผู้ติดตามครูบามาตลอด
หลวงปู่ครูบาหน้อย ชยวฺโส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ได้ละสังขารเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 รวมสิริอายุได้ 102 พรรษา 82 แต่วันนี้วัดบ้านปงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของญาติโยมที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือแม้แต่ในเชียงใหม่เองก็ได้เดินทางมานมัสการศพของหลวงปู่ครูบาหน้อยมิได้ขาดสาย ซึ่งทางวัดบ้านปงได้ตั้งศพของหลวงปู่ไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ศรัทธาได้กราบไหว้บูชา สรีระศพของหลวงปู่ครูบาหน้อยถูกบรรจุไว้ในโลงแก้ว แต่สภาพร่างกายของหลวงปู่ยังเหมือนเดิมร่างกายมิได้เน่าเสีย ทางตรงกันข้ามได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ดูแลศพของหลวงปู่ครูบาหน้อย จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าสรีระศพของ หลวงปู่นั้นมีเล็บมือเล็บเท้างอกออกมาเองแต่จะเป็นบุญบารมีธรรมอย่างไรก็ตาม หลวงปู่ครูบาหน้อยก็ถือว่าเป็นพระเถระที่มีพรรษามากที่สุดรูปหนึ่งของประเทศ
ประวัติของหลวงปู่ครูบาหน้อย เกิดเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2440 ขึ้น 3 ค่ำเดือน 5 ปีจอ บิดาชื่อนายวงศ์ มารดาชื่อนางออน พงศ์คำ หลวงปู่ครูบาหน้อยเกิดที่บ้านปง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในเยาว์วัยหลวงปู่เป็นเด้กขี้โรค ร่างกายอ่อนแอและโยม แม่ของท่านสุขภาพไม่แข็งแรงอีกด้วย ได้นำหลวงปู่ไปขอดื่มน้ำนมจากเพื่อนบ้านที่มีบุตรเล็กๆในวัยเดียวกัน เมื่อท่านอายุได้ 1 ขวบโยมแม่ออนก็ถึงแก่กรรม เด็กชายหน้อย เจริญวัยได้ 11 ปีทางบ้านจึงได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดบ้านปง เพื่ออบรมบ่มนิสัยศึกษาเล่าเรียนเพิ่มความรู้ พออายุได้ 13 ปีก็ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้านปง โดยมีครูบามโนชัยวัดศรีภูมินทร์ (สันป่าสัก) เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2454
ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ.2461 โดยมีครูบามโนชัยวัดศรีภูมินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระศรีวิชัยเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสิทธิเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ชยวฺโส” หลวงปู่ครูบาหน้อย ได้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสแก่ศรัทธาญาติโยมเป็นอย่างมาก เพราะหลวงปู่เป็นพระที่ปฏิบัติธรรมอย่างสันโดษ ยิ้มง่ายและมีเมตตาธรรมสูงจนเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป แม้วันนี้หลวงปู่ครูบาหน้อย จะเหลือแต่สรีระไร้วิญญาณ ร่างของหลวงปู่กลับสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนนั่นคือ สรีระร่างกายที่ไม่เน่าเสียเหมือนปกติธรรมดาแถมยังมีเล็บมือเล็บเท้างอกออกมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ทำให้ประชาชนที่ทราบข่าวต่างหลั่งไหลพา
กันมากราบสักการะสรีระศพของหลวงปู่หน้อยไม่ได้ขาดสายในแต่ละวัน.
บทความโดย
ไพโรจน์ ปรกแก้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น