ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่น่านเมืองรองยอดฮิต นำร่องผลักดันกฎหมายเสริมทัพท่องเที่ยวไทย

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ลงพื้นที่หารือเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้บริการเช่าที่พักระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงแรมในจังหวัดน่าน หวังผลักดันกฎหมาย เสริมทัพการท่องเที่ยวไทย

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ขณะนี้การประกอบธุรกิจให้บริการเช่าที่พักระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่โรงแรม ซึ่งมีลักษณะการนำบ้านพักที่มีห้องว่าง ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียมที่ซื้อไว้แล้วไม่ได้อยู่รวมถึงอพาร์ทเม้นท์ส่วนตัวมาเสนอให้เช่าในระยะสั้นไม่กี่วันเพื่อสร้างรายได้โดยผู้เช่าสามารถจองผ่านแอพพลิเคชันของผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของที่พักอาศัยและผู้เช่า เช่น Airbnb หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับหรือคลอบคลุมถึงการทำธุรกิจประเภทดังกล่าว ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่เพียงติดปัญหาเรื่องกฎหมาย แต่ยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาด้านอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ยาเสพติด ปัญหาการส่งเสียงดังก่อความรำคาญต่อผู้ที่อยู่อาศัยอย่างถาวรที่ต้องการความเป็นส่วนตัว รวมถึงเหตุการณ์ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยกับผู้เข้าพักรายวันเรื่อยมา จากสภาพปัญหาดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้หยิบยกเรื่องปัญหาธุรกิจการให้เช่าที่พักระยะสั้นขึ้นมาพิจารณา มุ่งแก้ไขปัญหาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หันมาเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงกำหนดแนวทางมาตรการรองรับการประกอบกิจการที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวหลากหลายระดับ

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ในปัจจุบัน จำนวนห้องพักที่เปิดประกอบกิจการ จุดแข็ง – จุดอ่อน ความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรองด้านการท่องเที่ยว จำนวน 5 จังหวัด บุรีรัมย์ ภูเก็ต ระยอง เชียงราย และน่าน โดยจังหวัดน่านนับว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และวิถีชุมชน แม้จะเป็นเมืองรองที่ไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่มากนัก มักเป็นที่พักขนาดเล็ก โฮมสเตย์ และรูปแบบใหม่อย่างฟาร์มสเตย์ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเชิงระบบให้กับชุมชนท่องเที่ยวจึงสำคัญและควรดำเนินการอย่างรอบคอบ สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดน่านในวันนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งปัญหา ข้อจำกัด ความเหมาะสมในการจำกัดความที่พัก ตลอดจนความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานที่พักให้ถูกกฎหมาย ทั้งนี้เห็นว่า ควรทำให้ผู้ประกอบการที่พักในพื้นที่ได้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องเสียก่อน แล้วผู้ประกอบการและภาครัฐจึงร่วมกันพัฒนามาตรฐานควบคู่กันไป โดยอาจกำหนดว่าภายในระยะเวลา 2 ปี ต้องดำเนินการให้มีมาตรฐานครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะส่งผลกับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป เป็นการร่วมกันพัฒนาและควบคุมดูแลจากทุกฝ่ายในพื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและชาวบ้านอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริง ณ โฮมสเตย์ บ้านบ่อสวก อำเภอเมือง และบ้านศิลาเพชรโฮมสเตย์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอีกด้วย
เมื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่ได้ทุกจังหวัดและผ่านการสังเคราะห์ของคณะทำงานแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งดำเนินการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางที่มีหน้าที่กำกับดูแลเพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่เป็นปัญหาสาธารณะ และประมวลเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาล อันนำไปสู่ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันต่อไป ส่วนกรณี Airbnb นั้น ในจังหวัดน่านอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเตรียมมาตรการป้องกันเพื่อรับมือกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไป” พลเอก วิทวัส กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น