ชาวยองกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ลำพูน

นครเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาเดิม เคยเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในฐานะของเมืองอันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ก่อนปี พ.ศ.2101 ผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ร่มเย็นสงบสุข มั่งคั่งด้วยการค้า เฟื่องฟูด้วยพระศาสนามาช้านาน แต่แล้วเงาดำของสงครามก็ได้พาดผ่านเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบยินนอง (พระเจ้าบุเรงนอง) ได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่จนแตกสลาย ประชาชนพลเมืองล้านนาถูกกดขี่ข่มเหงได้รับความเดือดร้อน จากการปกครองของพม่าผู้คนชาวเมืองเชียงใหม่ ล้มหายตายจากด้วยพิษสงครามบางคนอพยพหนีเข้าป่า ส่วนคนที่ไม่มีทางสู้ก็ต้องตกเป็นเชลย
แผ่นดินล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าราว 200 กว่าปี ในช่วงระยะเวลานี้ศิลปกรรมต่าง ๆ ของล้านนาได้ถูกผสมกลมกลืนกับแบบพม่าดังปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในปัจจุบัน ชาวเงี้ยวหรือพม่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนและเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มเมือง คนเมืองหรือคนพื้นถิ่นเดิมแทบไม่มีปรากฏให้เห็น นอกจากเมืองเชียงใหม่ที่ถูกพม่าเข้ายึดตีแล้ว หัวเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ เช่น เมืองลำพูนเองก็พลอยได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ.2314 กองทัพจากกรุงธนบุรีร่วมกับกำลังของพระยากาวิละและพญาจ่าบ้าน ได้ตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า หลังจากที่ตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้แล้ว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทรงแต่งตั้งพระยากาวิละขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่เมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้นเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนอาศัย เนื่องจากถูกพม่ากวาดต้อนไปหลายครั้งจากตำนานหลักฐานต่าง ๆ ได้กล่าวถึงเมื่อพระเจ้ากาวิละได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ในสายสกุลเจ้าเจ็ดตน ต่อมาได้เป็นต้นสกุล ณ เชียงใหม่, ณ ลำพูน, ณ ลำปาง จากหนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองลำพูน ซึ่งเขียนโดยอาจารย์กำธร ธิฉลาด กล่าวถึงพระเจ้ากาวิละได้รวบรวมผู้คนไพร่พลจากเมืองลำปาง 300 คน มาสมทบกับกำลังของพญาจ่าบ้านที่เวียงสะแกงอีก 700 คน มาตั้งมั่นที่เวียงป่าซางเป็นเวลากว่า 14 ปี จนถึงปี พ.ศ.2339 พระเจ้ากาวิละจึงสามารถเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่ได้ ในช่วงระยะนี้พระเจ้ากาวิละได้ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้าเมืองยอง เมืองฝาง เมืองเชียงรายและเมืองสาด หัวเมืองเหล่านี้ยินยอมที่จะต่อต้านอำนาจของพม่า โดยเจ้าเมืองยองยอมทิ้งเมืองแล้วพาไพร่พลมาอยู่ที่เวียงป่าซาง
เมื่อพระเจ้ากาวิละเข้าไปตั้งมั่นที่เมืองเชียงใหม่แล้ว ได้มีความพยายามที่จะขับไล่อิทธิพลของพม่าให้ออกไปจากล้านนา ในปี พ.ศ.2345 เริ่มตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ.2347 ได้เข้าตีเมืองเชียงแสน โดยกองทัพผสมจากเมืองเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ลำปาง เวียงจันทน์และเมืองน่าน ชาวเมืองเชียงแสนถูกจับเป็นเชลยจำนวนมากและได้แบ่งเชลยออกเป็น 5 ส่วนกวาดต้อนไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ
หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากเมืองเชียงแสนแล้ว กองทัพจากเมืองเชียงใหม่ได้ขึ้นไปกวาดต้อนไพร่พลตามเมืองต่างๆ ที่อยู่ทางเหนือเมืองเชียงแสน โดยเข้าไปกวาดต้อนที่เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงขาง เมืองวะ เมืองลวง เมืองมาง ฯลฯ ตามนโยบายของพระเจ้ากาวิละที่ต้องการไพร่มาฟื้นฟูเมืองที่รกร้าง อีกประการหนึ่งเพื่อไม่ให้พม่าใช้เป็นฐานที่มั่นมาโจมตีล้านนาอีกการกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยกำหนดประเภทของคนที่ถูกกวาดต้อนมา หากเป็นช่างฝีมือจะกำหนดให้อยู่ในเมือง เช่น ชาวเขินที่หายยาอพยพมาจากเมืองเชียงตุงเชี่ยวชาญการทำเครื่องเขิน มาอยู่เชียงใหม่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศใต้ ชาวยวนบ้านฮ่อมเชี่ยวชาญการทำดอกไม้กระดาษอยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นนอกและชั้นในด้านทิศตะวันออก กลุ่มไตหรือไทใหญ่เชี่ยวชาญด้านการค้าอยู่บริเวณช้างเผือก และช้างม่อย ส่วนที่เหลือจะให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกเมืองและมีชาวยองบางส่วนให้อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูน
ปี พ.ศ.2348 เมืองลำพูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คนยองถูกกวาดต้อนมาอยู่มีพระยาบุรีรัตน์คำฝั้น อนุชาของพระเจ้ากาวิละมาครองเมืองเป็นองค์แรก เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้ายของตระกุลเจ้าเจ็ดตนเป็นพระยาอุปราชเมืองลำพูน การแบ่งคนยองในการตั้งถิ่นฐานที่ลำพูน เจ้าหลวงคำฝั้นเจ้าเมืองลำพูนให้พญามหิยังคบุรี เจ้าเมืองยองและน้องอีก 3 คน ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันออกติดกับเมืองลำพูนที่บ้านเวียงยอง ให้ผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยู้ เมืองหลวย ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ชุมชนเหล่านี้มีหน้าที่ทอผ้าให้กับเจ้าเมืองลำพูน
อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวยองจะเป็นการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนตามแนวลำน้ำที่เหมาะสมในการเกษตรเป็นสำคัญ จากหมู่บ้านหลักในลุ่มแม่น้ำกวงบ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตองได้ขยายตัวออกไปเป็นบ้านหลิ่งห้า(ศรีบุญยืน) เขตลุ่มแม่น้ำปิงห่างจนถึงบ้านหนองหมู บ้านป่าลาน ป่าเห็ว เป็นต้น นอกจาการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูนแล้ว ยังปรากฏมีชาวไตเขินจากเชียงตุงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสันดอนรอมในเขตนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้อีกด้วย ไพร่พลที่อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูนนี้ต่อมาได้สืบลูกสืบหลานกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของลำพูน กระทั่งทุกวันนี้หากจะนับย้อนถึงกลุ่มคนยองที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองลำพูนเป็นเวลา 214 ปี บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น