สุดยอด! ฝรั่งเมืองแพร่ “อุดม สุขเสน่ห์” ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ปี 2562

สุดยอด! ฝรั่งเมืองแพร่ “อุดม สุขเสน่ห์” ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ปี 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานมา เมื่อวันที่ 26 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2562 พร้อมมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ แก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย และหนึ่งในผู้ที่ได้คือ “นายอุดม สุขเสน่ห์” หรือ Mr. Allen Robert Dean Long ซึ่งได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น โดย “นายอุดม สุขเสน่ห์” ได้มี Youtube Channel เป็นของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า Udom Suksanaih และปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วกว่า 9,846 คน โดยในช่องก็จะมีการถ่ายทอดวิถีชีวิตของตัวเขา การใช้ภาษาเหนือ(สำเนียงแบบคนแพร่) ในแนวสนุกสนาน เฮฮา

และภายในงานนี้ นอกจากจะมีการมอบเข็ม และโล่เชิดชูเกียรติแก่ปูชนียบุคคล ในด้านผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นแล้ว ยังมีด้านผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ด้านผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่มีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การพูด ในปี 2562 พร้อมนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ยังมอบรางวัลเพชรในเพลง และเมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้แทนสถานทูต 13 ประเทศ ที่ร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทย พร้อมมอบโล่ให้เยาวชนที่ชนะการประกวดการพูดเชิงสร้างสรรค์ “ภาษาไทยถิ่นใต้:อัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 คน และเยาวชนที่ชนะการประกวดคัดลายมือจากสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย 9 คน โดยมี นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนสถานทูตประเทศต่าง ๆ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ประจำปี 2562 โดยปีนี้จัดกิจกรรมขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนไทย และเพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรมที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย ซึ่งพระองค์ได้ทรงร่วมอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น“วันภาษาไทยแห่งชาติ”

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ด้านภาษาและวรรณกรรม และเพื่อสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทและสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงสนพระราชหฤทัยและมีพระปรีชาด้านการประพันธ์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นที่ประจักษ์ ทรงสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมของชาติ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัล ซีไรท์ และทรงห่วงใยเยาวชนของชาติด้านการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ตลอดจนการรักษาขนบประเพณีอันดีงามของไทย รวมถึงส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) และกรมศิลปากร (ศก.) ได้คัดเลือกบุคคลและองค์กร เพื่อรับเข็ม โล่เชิดชูเกียรติและมอบรางวัล เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ดังนี้

  1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 1 รางวัล ได้แก่ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์
  2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 17 รางวัล แบ่งเป็นคนไทย 15 รางวัล ได้แก่ นายกรนันสักก์ ตั้งหทัยชูหิรัญ ,นายกฤษฎา สุนทร ,นายคารม ธรรมชยาธร , พญ.ชัญวลี ศรีสุโข ,นายธีระ ธัญไพบูลย์ ,นายบุญมา ศรีหมาด ,รศ.ปรมินท์ จารุวร ,นายภาสวัฒก์ บุญจันทร์ ,รศ.ยุรฉัตร บุญสนิท ,รศ.เรไร ไพรวรรณ์ ,นางวโรกาส มังกรพิศม์ ,ผศ.วัลยา ช้างขวัญยืน ,นายวิษณุ พุ่มสว่าง ,ผศ.สมเกียรติ คู่ทวีกุล ,นายอดิสรณ์ พึ่งยา และชาวต่างประเทศ 2 รางวัล ได้แก่ น.ส.เจือง ถิ หั่ง และนายอเล็กซ์ซานเดอร์ วิลส์
  3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 12 รางวัล แบ่งเป็นคนไทย 9 รางวัล ได้แก่ นายดำรงศักดิ์ บุญสู่ ,นายดุสิต เชาวชาติ ,นายปั่น นันสว่าง ,พระครูสีลสาราภรณ์ (สมสิทธิ์ รกฺขิตสีโล) ,นายมนตรี คงแก้ว ,นายเมตต์ เมตต์การุณจิต ,นางยินดี ตรีรัญเพชร ,รศ.วีณา วีสเพ็ญ และนางอบเชย ศรีสุข และชาวต่างชาติ 3 รางวัล ได้แก่ นายคริสโตเฟอร์ เชฟ ,นายมาร์ติน วีลเลอร์ และนายอุดม สุขเสน่ห์ (Mr. Allen Robert Dean Long)
  4. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประกอบด้วย ประเภทบุคคล คือ รศ.สืบพงศ์ ธรรมชาติ และประเภทองค์กร ได้แก่ กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ,ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม และศุมาสถาบันภาษาและวัฒนธรรม
    รางวัลเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน พ.ศ.2562 จำนวน 10 รางวัล ดังนี้ นายกุมภารักษ์ น้อยคำ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี ,น.ส.จันทิมา จิตนิยม โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม จ.สุโขทัย ,นายชินวัฒน์ อรัญทม โรงเรียนกำแพง จ.ศรีสะเกษ ,นายโชคชัย พลธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ,นายต่อพงศ์ เชื้ออุ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ,นายธีระวัฒน์ ชูรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นายภูริวัฒน์ เขนย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ,นายรณชัย หวังกวดกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ,น.ส.วรรณธิดา สามสี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต และนายสมชาย ทุนมาก มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

นอกจากนี้ รางวัลการประกวดเพลง เพชรในเพลง 12 รางวัล ดังนี้

  1. รางวัลเชิดชูเกียรติ ประกอบด้วย รางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินเพชรในเพลง ได้แก่ น.ส.ธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) ,รางวัลเชิดชูเกียรตินักร้องเพลงอมตะ ได้แก่ ร.อ.หญิง สมศรี ม่วงศรเขียว ,รางวัลเชิดชูเกียรติรายการโทรทัศน์ส่งเสริมภาษาและศิลปวัฒนธรรมไทย ได้แก่ รายการคุณพระช่วย ,รางวัลเชิดชูเกียรติวงดนตรีสร้างสรรค์ภาษาไทยในเพลง ได้แก่ วงดิอิมพอสซิเบิ้ล
  2. รางวัลประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงให้รักเป็นคำตอบ ผู้ประพันธ์ นายสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ,รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงเหงาจนเงาหนี ผู้ประพันธ์ นายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ (เท่ง เถิดเทิง) ,รางวัลชนะเลิศผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ เพลงสำนึก ผู้ประพันธ์ นายพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์
  3. รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ เพลงกลับมาตรงนี้ ผู้ขับร้อง นายอุเทน พรหมมินทร์ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ เพลงเพลงพรแผ่นดิน ผู้ขับร้อง น.ส.ณัฐธิกา เอี่ยมท่าไม้ ,รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ เพลงตำนานอโยธยา ผู้ขับร้อง นายธนพล สัมมาพรต (แจ๊ค ธนพล),รางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ เพลงหอบฝันสู่เมืองใหญ่ ผู้ขับร้อง น.ส.พลอยชมพู ลอมเศรษฐี (ปะแป้ง พลอยชมพู) และรางวัลชนะเลิศผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ เพลงเช’2018 ผู้ขับร้อง นายยืนยง โอภากุล

ปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ วธ.ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังสถานทูตประจำประเทศไทย โดยเชิญชวนเอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานทูตแต่ละประเทศ ถ่ายทำวีดิทัศน์รณรงค์การใช้ภาษาไทย ซึ่งมีสถานทูต 12 ประเทศ ส่งวีดิทัศน์ร่วมกิจกรรม ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ อิสราเอล โคลัมเบีย โปรตุเกส เปรู ซูดาน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และมาเลเซีย และมีสถานทูต 1 ประเทศคือ บังกลาเทศส่งผู้แทนมาร้องเพลงภาษาไทย ในกิจกรรมวันภาษาไทย เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือเสริมสร้างความสัมพันธ์เกียรติภูมิและภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล

ร่วมแสดงความคิดเห็น