การประปานครหลวงสานต่อโครงการ จัดกิจกรรมปลูกป่า สืบสานการปลูกป่าต้นน้ำ ปีที่ 3  

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. ที่ป่าต้นน้ำบ้านห้วยหาด หมู่ที่ 7 ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน  นายกวี อารีกุล รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.)  เป็นประธานการจัดกิจกรรม การประปานครหลวงรักษ์ป่าต้นน้ำ ตามรอยพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในการปลูกป่าต้นน้ำ ปีที่ 3 โดยสานต่อมาจากโครงการ “กปน. รักษ์ป่าต้นน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปี 2554-2559 ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามรอยพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ให้มีความยั่งยืน โดยกปน. ได้จัดกิจกรรมปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและธรรมชาติ ครอบคลุมลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ตลอดจนพัฒนาระบบประปาภายในโรงเรียนและชุมชนในโครงการฯ โดยมีนายนิวัฒน์ งามธุระ ปลัดจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายชนาธิป เสมแย้ม นายอำเภอปัว ส่วนราชการต่างๆ ประชาชนจิตอาสา วปร.904 นักเรียนในพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมเกือบ 500 คน

สำหรับโครงการรักษ์ป่าต้นน้ำฯ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยมีคณะจิตอาสาร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 15,999 ต้น ปลูกหญ้าแฝกกว่า 99,999 ต้น สร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการกว่า 10 หน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาระบบประปาภายในโรงเรียนบ้านในพื้นที่อ.ปัวและอ.เชียงกลาง ได้แก่ โรงเรียนบ้านผาน้ำย้อย และโรงเรียนบ้านเกวต อำเภอปัว โดยวางระบบท่อประปาใหม่ ติดตั้งถังพักน้ำ พร้อมได้มอบระบบประปาให้แก่ทั้งสองโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทางด้านนายกวี กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นครั้งแรกปี 2560 ใช้เวลาคำเนินการทั้งสิ้น 3 ปี (2560-2562) ซึ่งในปี 2560-2561 ที่ผ่านมา คณะจิตอาสาได้ร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 30,000 ต้น ปลูกหญ้าแฝกกว่า 200,000 ต้น เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่า 110 ไร่ สร้างฝายชะลอน้ำกว่า 900 ฝาย นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบประปาภายในโรงเรียนและชุมชนรวม 6 แห่ง อาทิ โรงเรียนบ้านป่าแลวหลวง โรงเรียนบ้านยอดดอยวัฒนา และชุมชนบ้านทุ่งกลาง เป็นต้น ทำให้ครู นักเรียน และชุมชน มีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคด้วยปริมาณและแรงดันน้ำที่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น