กทท. ทำพิธีส่งมอบฝายเฉลิมพระเกียรติฯ แก่ชุมชนพื้นที่ต้นน้ำ บ้านหาดปู่ด้าย จ.ลำปาง

การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมสานพลังหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรจิตอาสา ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ทำพิธีส่งมอบฝายเฉลิมพระเกียรติฯ แก่ชุมชนพื้นที่ต้นน้ำ พร้อมทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างพื้นที่สีเขียวคืนชีวิตให้กับผืนป่า
นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย พ.อ.สมศักดิ์ เตชะสืบ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัดลำปาง นายสถาพร สุขโข นายอำเภอเกาะคา ร่วมกันนำกลุ่มพลังมวลชนจิตอาสา ทั้งข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานต่างๆ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลนาแส่ง รวมกว่า 200 คน ให้การต้อนรับ เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมคณะฯ เนื่องในโอกาสเดินทางลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมติดตามดูผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม CSR ด้านสิ่งแวดล้อมดูแลรักษาผืนป่าพื้นที่ชุมชนต้นน้ำในจังหวัดลำปาง ซึ่งทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมขึ้น ณ บริเวณพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย หมู่ที่ 1 ตำบลนาแส่ง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการ “ฅน…เก็บน้ำให้แผ่นดิน” โดยได้ทำการนำกลุ่มสมาชิก พนักงานเจ้าหน้าที่จิตอาสา 904 วปร. จากส่วนกลาง ลงพื้นที่ร่วมกับจิตอาสาชุมชนท้องถิ่นสานปณิธานความดีสร้างฝายต้นน้ำลำธารสืบสานแนวทางตามพระราชปณิธาน เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
สำหรับการสร้างฝายชะลอน้ำตามโครงการดังกล่าว เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และนางอัฌนา พรหมประยูร หัวหน้าคณะทำงานบริหารการดำเนินการสร้างฝายของการท่าเรือ ได้กล่าวว่า โครงการ “ฅน…เก็บน้ำให้แผ่นดิน” เป็นกิจกรรมที่ได้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันของ 5 หน่วยงานกลุ่มเครือข่ายพันธมิตร ทั้งการท่าเรือแห่งประเทศไทย, กรมศุลกากร, บ.เอส ซี กรุ๊ป จำกัด, สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย และ บ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ทั้งนี้ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ต้นน้ำ ที่ถือได้ว่ามีน้ำเป็นแหล่งทุนสำคัญที่ได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลให้แก่ชุมชนตลอดสายน้ำ ทั้งใช้เพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิต ทำธุรกิจสร้างงานสร้างอาชีพ โดยได้ส่งผลเรื่อยมาจนถึงคนในพื้นที่ปลายน้ำ ดังนั้นเครือข่ายพันธมิตร 5 หน่วยงาน จึงตั้งใจที่จะแสดงถึงความรับผิดชอบของคนปลายน้ำที่ได้มีต่อคนต้นน้ำ และขอร่วมอาสาที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่ต้นน้ำไว้ให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดิน ด้วยการจัดกิจกรรมโครงการเดินตามรอยเท้าพ่อสานต่อศาสตร์พระราชาสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะคืนกำไรกลับสู่ชุมชนเพื่อช่วยเหลือดูแลคนต้นน้ำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อสร้างเครือข่ายให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ต้นน้ำให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป
โดยเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 การท่าเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ “ฅน…เก็บน้ำให้แผ่นดิน” ขึ้นอีกครั้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีนี้ถือเป็นการดำเนินงานโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยในปี 2562 ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยและหน่วยงานเครือข่าย มีเป้าหมายที่จะจัดทำฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวรในพื้นที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมจำนวน 12 ฝาย ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 1,220,000 บาท ในจำนวนนี้ได้จัดสร้างฝายให้กับจังหวัดลำปาง ที่ชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย จำนวน 2 ฝาย ซึ่งได้ดำเนินการจัดสร้างเสร็จสิ้นแล้วเป็นที่เรียบร้อย
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ทำการส่งมอบฝายดังกล่าวให้กับจังหวัดลำปางอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนในการรับมอบ พร้อมนำส่งฝายมอบให้กับชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย เพื่อชาวบ้านจะได้ช่วยกันดูแลรักษาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนในโอกาสเดียวกันนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ และรักษาระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ต้นน้ำบ้านหาดปู่ด้าย ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ร่วมกันนำประชาชนจิตอาสาทั้งจากหน่วยงานส่วนกลาง และในพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมกันปลูกกล้าพันธุ์ไม้พื้นถิ่นลงบนบริเวณรอบผืนป่า รวมทั้งร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทั้งพันธุ์ปลา กบ หอย ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่กักเก็บน้ำของฝายชะลอน้ำด้วย
ทั้งนี้ สำหรับป่าชุมชนบ้านหาดปู่ด้าย ถือเป็นป่าชุมชนต้นแบบของอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการดำเนินงานดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 30 ปี ด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชน จนทำให้วันนี้ได้พลิกฟื้นคืนสภาพจากป่าเขาหัวโล้นมาเป็นป่าไม้ต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ บนพื้นที่กว้างกว่า 10 ตารางกิโลเมตร โดยปัจจุบันในพื้นที่ได้มีสัตว์ป่าหายากเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น นกยูง ปูป่า ไก่ป่า รวมถึงนก แมลงต่างๆ และพืชสมุนไพรอีกหลายชนิด ตลอดจนบริเวณผืนป่ายังได้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนหมู่บ้านที่มีทั้งผักหวานป่า ไข่มดแดง และเห็ดโคน เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น