เกษตรยั่งยืน ปัญญาจากขุนเขา เรื่องเล่าของ “อ้ายพัฒน์ อภัยมูล”

และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผืนดินที่มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่จะเกื้อเอื้อให้คนกลุ่มหนึ่งพากันปฏิบัติแนวคิดการเกษตรแผนใหม่ แล้วหันเหตนเองเข้าไปสู่แนวคิดการทำเกษตรแบบยั่งยืนท่ามกลางแรงกดดันจากชาวบ้านในหมู่บ้านภาพของชายวัย 60 ปี “อ้ายพัฒน์ อภัยมูล” เขาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความยากลำบากมาแล้วนับไม่ถ้วน ด้วยท่าทางที่ทะมัดทะแมง ทั้งท่วงทาและวาจาของเขามีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่แฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่นและความเป็นตัวของตัวเองอยู่ในท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อม ก็แค่สวนผลไม้เล็กๆธรรมดาๆ ที่ดูผิวเผินไร้ระเบียบแต่ก็ใช่ว่าจะรกเรื้อไร้การจัดการ ทั้งไม้น้อยใหญ่กับแปลงผักขึ้นปกคลุมปะปนผสมผสานกับการกลุ่มแมลงบางชนิดที่บินวนว่อน ต้นชะอมที่แตกช่อชูใบที่ลำต้นขึ้นปกคลุมแปลงสับปะรดหลายสิบแปลงที่ครั้งหนึ่ง
เขาเล่าว่า เคยไปเก็บเหง้ามันมาจากกองขยะแล้วนำมาทดลองปลูก แต่เขากลับชี้ชวนให้ผู้มาเยือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท และมีหลายคนเป็นถึงอาจารย์ที่พ่วงท้ายดีกรีปริญญาโทและเอกจากต่างประเทศดูมันอย่างชื่นชมและภาคภูมิใจ
แม้จะร่ำเรียนมาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ อ้ายพัฒน์ หรือ ประพัฒน์ อภัยมูล เกษตรกรผู้หันเหมาสู่การทำเกษตรแบบธรรมชาติ ซึ่งเขาเป็นคนแรกที่กล้าหาญทวนกระแสการทำเกษตรแผนใหม่หรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิดโดยไม่มีการใช้สารเคมี
“ถ้าวันนั้นผมและเมียไม่ป่วยเป็นไข้ เนื่องจากการเก็บข้าวโพดแทบตายทั้งวัน แล้วละก็คงไม่มีวันนี้ที่ผมกลับมาคิดทบทวนว่าการทำเกษตรแบบนี้คงไม่ทำให้เรารวยขึ้น ได้เงินมาเท่าไหร่ก็ไปจ่ายค่าปุ๋ยค่ายาหมด แต่ทำไมปู่ย่าตายายของเราเวลาปลูกพืชผักถึงเลี้ยงลูก และส่งเสียลูกได้ตั้งหลายคน และสิ่งที่ผมค้นพบจากบรรพบุรุษ ก็คือว่าเขาจะปลูกพืชหลายชนิดไว้เพื่อกินเพื่ออยู่เท่านั้น ที่เหลือจากการกินก็นำมาขายบ้าง แต่คนเรากลับไม่มองอย่างนั้น เราต่างคิดกันว่า ปลูกพืชเพื่อขายซึ่งมันไม่ใช่เลย”
ประพัฒน์ อภัยมูล เกิดและเติบโตท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาแห่งบ้านแม่ทา ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นพื้นที่ของอ.สันกำแพงอยู่ แน่นอนว่าในวัยเยาว์เขาเกิดอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทำการเกษตรและไม่อาจปฏิเสธได้อีกเช่นกันที่เขาจะต้องเจริญรอยตามผู้เป็นบิดามารดา ความพยายามเพื่อพลิกผันชีวิตของตนเองเริ่มต้นขึ้นเมื่อก่อนปี 2529 เขาลงมือปลูกพืชเชิงเดี่ยวหลายชนิด ทั้ง กระหล่ำ ข้าวโพด งาดำ ถั่วลิสง มะเขือเทศ พริก ฯลฯ แต่หารู้ว่าพวกเขากำลังก้าวเข้าไปสู่วังวนการทำเกษตรอีกแบบหนึ่ง เพราะเพียงไม่กี่ปีให้หลังราคาพืชผักที่แห่กันปลูกก็เริ่มตกต่ำจนไม่คุ้มค่าแรงงาน ซ้ำค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีก็ขึ้นราคา ยิ่งทำก็ยิ่งเหนื่อย รายได้หามาเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น
บทเรียนที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อครั้งนั้น สอนให้ประพัฒน์รู้ว่าการทำเกษตรแบบแห่กันปลูกพืชชนิดเดียวกันเพื่อหวังเอาไปขายนั้น ไม่เพียงแต่ขาดทุนเงินทองเท่านั้น ที่สำคัญสุขภาพก็เริ่มแย่เพราะการใช้สารเคมี กระทั่งปี 2530 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นกับการทำเกษตรในตำบลแม่ทาเมื่อ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามาช่วยเหลือและเสนอแนะ
ซึ่งในครั้งนั้นถูกมองจากคนภายนอกว่าเข้ามาปลุกระดมชาวบ้าน ทว่าการเข้ามาของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเพาะปลูกของชาวบ้าน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ชาวบ้านจะต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรดิน น้ำและป่าไม้ในชุมชนของตนให้สมดุล โดยการรวบรวมสมาชิกและจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรในครั้งนั้นกว่า 30 กลุ่ม ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็น สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาจำกัด
แนวคิดการทำเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งมีนักวิชาการให้คำจำกัดความขึ้นใหม่ในหลายความหมายว่า เกษตรทางเลือก ,เกษตรผสมผสาน ,พุทธเกษตร ,วนเกษตร ,เกษตรอินทรีย์ ,เกษตรทฤษฏีใหม่ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ รูปธรรมของแนวคิดดังกล่าวคือการแนะนำให้ชาวบ้านหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง อันส่งผลให้ในเวลาต่อมาไม้พื้นถิ่นไทยอย่างมะนาว มะม่วง ลำไย ขนุน ส้มโอ ชะอม ตำลึง มะพร้าว ไม้ไผ่ ฯลฯ อยู่รวมกันได้กลมกลืนกับไม้เมืองหนาวอย่าง กาแฟและมักคาเดเมีย ในสวนเล็กๆของอ้ายประพัฒน์“พืชแต่ละชนิดต้องการสารอาหารที่ต่างกัน ถ้าปลูกพืชหลายชนิดผสมกัน ดินก็จะไม่สูญเสียสารอาหารตัวใดตัวหนึ่ง เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมาเติมลงในดินให้สิ้นเปลือง ไหนจะช่วยชะลอการเกิดแมลงศัตรูพืชได้อีก แล้วแปลงผักก็ไม่ปลูกรวมกันหลายๆแปลง เราแยกไปปลูกหลายที่แล้วหมุนเวียนสลับกับพืชชนิดอื่น”
ทุกวันนี้ นอกจากมีรายได้ประจำวันจากการขายผลผลิตอย่างเช่นชะอม ตำลึงรวมถึงพืชผักต่างๆแล้ว อ้ายประพัฒน์ยังมีรายได้ประจำเดือนจากการขายผลไม้ภายในสวนและยังมีรายได้ประจำปีจากการขายวัวที่ทุ่มเทเลี้ยงมาแรมปีอีกด้วย
ความจริงแท้ของการทำเกษตรแบบยั่งยืนที่เขาค้นพบคือ นอกจากการปลูกเพื่อกินแล้ว เขายังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ขายอีกด้วย แทนที่จะมุ่งหวังได้เงินก้อนโตจากการทุ่มปลูกพืชชนิดเดียว เขากลับค้นพบว่าวิธีการลดรายจ่ายจากค่าปุ๋ยและค่ายาฆ่าแมลงให้น้อยลง
เราก็จะมีเงินเก็บเท่ากันหรือมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องกลัวเจ็บตัวจากราคาพืชที่ผันผวนตลอดเวลา ถึงที่สุดถ้าราคามะม่วง ลำไย ฝรั่ง ชะอม เกิดตกต่ำพร้อมกัน อย่างน้อยก็ยังมีพืชผักไว้กินเองในครอบครัว ไม่ต้องไปหาซื้อแม้กระทั่งพริกมากิน
“..ถ้าเราเข้าใจตัวเราเองและมีความพอดีแล้ว เราก็จะพบว่าแท้จริงแล้วตัวเราไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครเกิดมาอายุร้อยปี ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องตาย ถ้าเราเข้าใจเราก็จะใจกว้างไม่เดือดร้อนใจถ้าใครไม่เห็นด้วยกับเรา..”
บทเรียนจากวิถีการเกษตรแบบยั่งยืนที่ประพัฒน์ อภัยมูลทุ่มเทแรงกายแรงใจมากว่า 30 ปีนั้นทำให้เขาพบความจริงว่า “ภูมิคุ้มกันจิตใจ” ของคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสวนเกษตรผสมผสานที่ปลุกปั้นมากันมือ เพราะถ้าคนในครอบครัวไม่มีความรู้
ความเข้าใจแล้วก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะถึงแม้ว่าประพัฒน์จะลงมือทำสวนเกษตรให้เห็นเป็นจริง แต่ก็ใช่ว่าเพื่อนบ้านทุกคนจะเห็นดีงามไปกับเขาด้วย มีบางครอบครัวยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยวใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงกันอยู่ ดังนั้นการรวมตัวของสมาชิกเกษตรแบบ
ยั่งยืนของตำบลแม่ทาจึงเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนให้มากขึ้นเพื่อ ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี นอกจากจะเป็นการปลอดภัยแก่ตัวเราแล้วผลพวงดังกล่าวยังตกไปถึงผู้บริโภคอีกด้วยบทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น