อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมประชุมบุคลากรทางการแพทย์ 18 จังหวัด

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 62 เวลา 09.00 น. กรมการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลลำปาง จัดการประชุมสัมมนาบูรณาการเครือข่ายบริการ Intermediate Care – Palliative Care และการดูแลผู้สูงอายุ ระหว่างกรมการแพทย์กับเขตสุขภาพที่ 1 2 และ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการบริหารจัดการและร่วมวางแผนงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขา Intermediate care – Palliative Care และการดูแลผู้สูงอายุ ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนี้ รวมทั้งยกระดับงานพัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพ มาตรฐาน ครอบคลุม ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงเครือข่ายบริการระหว่างกรมการแพทย์กับเขตสุขภาพต่อไป
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการที่รับผิดชอบงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 14 สาขา ของกระทรวงสาธารณสุขและขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบบริการ ลงสู่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ มีเป้าหมายคือประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรไร้รอยต่อ ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบริการและวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นในปี 2562 กรมการแพทย์จึงได้ทำโครงการสนับสนุนองค์ความรู้ ทรัพยากร และงบประมาณให้แก่เขตสุขภาพ 12 เขต เขตละ 1 ล้านบาท รวม 12 ล้านบาท ในหลายสาขาระบบบริการสุขภาพตามความต้องการของพื้นที่ และเล็งเห็นปัญหาเรื่องการจัดการระบบบริการการดูแลระยะกลาง (Intermediate care)ในการฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤติเฉียบพลัน แต่ยังคงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสาขาต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือกระดูกสันหลังรุนแรง โดยทีมสหวิชาชีพ ก่อนกลับสู่ชุมชน เพื่อลดความพิการและการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย และลดภาระการดูแลต่อระยะยาว หรือ ดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ของครอบครัวและชุมชน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้กล่าวมานี้จำนวนร้อยละ 40-60 เป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาและต้องการการดูแลแตกต่างจากกลุ่มวัยอื่น
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในปี 64 จะมีประชากรผู้สูงอายุ 20 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นมาก เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกและตีบ ทำให้เป็นผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน ปัจจุบันมีผู้ป่วยลักษณะของหลอดเลือดสมองทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 แสนราย ที่สำคัญคือเมื่อได้รับการรักษาจะฟื้นตัวดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดูแลผู้ป่วยหลังระยะเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่าระยะกลาง ในช่วงตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปถึง 6 เดือน จึงต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าไปร่วมดูแล จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อที่จะจัดระบบการแพทย์ 18 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันว่าการผู้แลผู้ป่วยหลังระยะเฉียบพลันจะดูแลอย่างไร โดยมีแนวคิดว่าอาจจะย้ายผู้ป่วยจาก รพ.ใหญ่ไปอยู่ รพ.ชุมชน เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่วนผู้ป่วยบางรายที่มาพบแพทย์ช้าจะช่วยได้ขั้นหนึ่ง แล้วเข้าสู่ผู้ป่วยระยะยาวเข้าสู่การรักษาระยะประคับประครองต้องมีการดูแลกันต่อเนื่อง
สำหรับการประชุมประกอบด้วย การอภิปราย การแบ่งกลุ่มเพื่อจัดทำรูปแบบการบริหารจัดการและการบริการในระดับเขตและในระดับจังหวัด ของเขตสุขภาพที่ 1,2 และ 3 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ที่รับผิดชอบงาน สาขา Intermediate care – Palliative Care และการดูแลผู้สูงอายุ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1,2 และ 3 รวมทั้งสิ้น 500 คน และได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารกรมการแพทย์และผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 1,2 และ 3 ผู้เชี่ยวชาญของกรมการแพทย์มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แนวคิด ข้อเสนอแนะ รูปแบบการบริหารจัดการระบบบริการ ให้บรรลุเป้าประสงค์ตามที่กระทรวงกำหนด

ร่วมแสดงความคิดเห็น