ไปดูต้นแสลงใจ ที่ทุ่งแสลงหลวง

จะมีใครสักกี่คนที่รับรู้ว่าชื่อของ “ทุ่งแสลงหลวง” แท้ที่จริงมีที่มาจากชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งสูงประมาณ 25 เมตร เรือนยอดเล็กเรียว ผิวใบเกลี้ยง ก้านดอกมีขนหนาแน่นและกาบเล็ก ๆ ส่วนเนื้อของมันนั้นจริง ๆ แล้วกินได้ แต่เมล็ดมีสารสตริกนินซึ่งเป็นพิษต่อประสาทอย่างรุนแรง ชาวบ้านเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นแสลงใจ” ขณะที่ลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่และเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งแสลงหลวง” ก็คือทุ่งหญ้าแบบสะวันนา (Savannah) ขึ้นตามธรรมชาติมากมาย
โดยเฉพาะบริเวณจุดชมวิวขุนณรงค์ซึ่งมองเห็นทุ่งแสลงหลวงราวกับแอ่งกระทะ มีทุ่งหญ้าสีเขียวขึ้นปกคลุมแผ่กว้างกินอาณาบริเวณหลายร้อยไร่ ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ของทุ่งแสลงหลวง อีกทั้งจุดท่องเที่ยวก็ไม่ได้อยู่ชิดติดกัน จึงเป็นเรื่องยากหากนักท่องเที่ยวไม่มียานพาหนะ เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่ในทุ่งแสลงหลวงนั้นอยู่ห่างกันหลายกิโล ครั้นจะใช้วิธีเดินป่าศึกษาธรรมชาติอาจต้องเหนื่อยกันสักหน่อย ขณะที่จักรยานเสือภูเขากลับเป็นพาหนะยอดฮิต
ยามเช้าคือช่วงเวลาอันสวยสดงดงามที่สุดของทุ่งแสลงหลวง นักท่องเที่ยวจะต้องตื่นแต่เช้ามืดแล้วเดินไปตามเส้นทางรถซึ่งลัดเลาะตัดผ่านทุ่งหญ้าไปยังเนินเขาสูงที่แวดล้อมด้วยป่าสนและป่าดิบเข้าสู่ทุ่งนางพญา หรือ ทุ่งนางพญาเมืองเลน ซึ่งกินพื้นที่กว้างถึง 16 ตารางกิโลเมตร ทุ่งนางพญาแห่งนี้มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของผึ้งนางพญา แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีผึ้งนางพญาปรากฏให้เห็น

นอกจากนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงยังมีทุ่งหญ้าธรรมชาติอีกหลายแห่ง อาทิ ทุ่งโนนสน ทุ่งยาว ทุ่งหนองรี ทุ่งหนองเรือ ทุ่งตะลูบบอน และทุ่งแสลงหลวงซึ่งถือว่าเป็นทุ่งหญ้าขนาดกว้างใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ติดที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สล.8 หนองแม่นา ถือเป็นจุดศูนย์กลางในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน หรือ ฤดูหนาว นักท่องเที่ยวก็นิยมเดินทางมาเที่ยวชมความสวยงามของป่าสนและทุ่งหญ้าที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย
การเดินทาง จากตัวเมืองพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก – หล่มสัก) ประมาณ 80 กม. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงอยู่ด้านขวามือ ส่วนการเดินทางไปยังตัวทุ่งแสลงหลวงนั้นจะต้องใช้เส้นทางหมายเลข 12 ไป อ.หล่มสัก ถึงสามแยกบ้านแคมป์สน เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง 2325 ผ่านน้ำตกศรีดิษฐ์ จนถึงสามแยกแล้วเลี้ยวขวาไปทางบ้านทานตะวัน – หนองแม่นาประมาณ 1 กม.แล้วจึงเลี้ยวขวาไปทุ่งแสลงหลวงอีกประมาณ 2 กม.จนถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 (หนองแม่นา)

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง เป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนากว้างใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตร.กม. แวดล้อมด้วยป่าสนเขาและป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ มีดอกไม้ป่ามากมาย เช่น ดอกกระเจียว ดอกเอื้องนวลจันทร์ ขึ้นอยู่เต็มทุ่งสวยงามมาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าฤดูแล้งทุ่งหญ้าจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง นอกจากความงดงามของพรรณพืชและดอกไม้ต่าง ๆ แล้ว ยังมีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่ามักออกมาหากินอยู่เป็นประจำอีกด้วย ทุ่งแสลงหลวงตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 60 กม. บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 หนองแม่นา
ทุ่งนางพญา เป็นทุ่งที่โอบล้อมด้วยป่าสนสองใบ สลับป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง ตามกิ่งต้นสนจะพบกล้วยไม้อาศัย เช่น เอื้องชะนี หงอนไก่แดง ช่วงปลายฝนต้นหนาวในยามเช้าจะมีสายหมอกไหลเอื่อย ๆ สวยงามมาก บรรยากาศเหมาะแก่การตั้งแคมป์พักแรม การเดินทางเป็นทางลูกรังอัดแน่น รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ ตั้งอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 หนองแม่นา 14 กม.
ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าสลับป่าสนเขา ในช่วงปลายฝนต้นหนาวตามลานหินจะเต็มไปด้วยดอกไม้ป่าออกดอกสวยงามไปทั่วท้องทุ่ง เช่น ดุสิตา เอื้องม้าวิ่ง กระดุมเงินกระดุมทอง สร้อยสุวรรณา หม้อข้าวหม้อแกงลิง และกล้วยไม้ดินนานาชนิด ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวคือ ช่วงปลายเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน
แก่งวังน้ำเย็น เป็นแก่งหินขนาดใหญ่กว้าง 40 – 50 ม.ยางหลายร้อยเมตรมีโขดหินน้อยใหญ่เรียงรายอยู่กลางลำน้ำ เป็นที่อยู่ของผีเสื้อหลายสายพันธุ์ นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นที่อยู่ของแมงกะพรุนน้ำจืดที่หายากและมีที่เดียวในประเทศไทยน้ำตกแก่งโสภา เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียง ตัวน้ำตกมี 3 ชั้น มีต้นกำเนิดมาจากลำน้ำเข็กใหญ่ อยู่ห่างจากทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก – หล่มสัก ประมาณ 2 กม. เส้นทางศึกษาธรรมชาติทุ่งนา ผกค. เพื่อการสัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของระบบนิเวศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทางอุทยานฯจึงได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ระยะทางประมาณ 2.5 กม.
นอกจากจะพบเห็นพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิแล้ว ยังได้ชมอดีตพื้นที่นาและบ้านพักของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อีกด้วย อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8 หนองแม่นา ประมาณ 2 กม.
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจทางอุทยานฯมีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการ โดยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 0 5526 8019
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น