การปล่อย “โคมไฟ” ในงานยี่เป็ง เป็นฮีตฮอยของคนล้านนาหรือไม่?

ตามที่มีคัดค้านการปล่อยโคมไฟเพื่อทำสถิติโลก ในงานยี่เป็ง หรือประเพณีลอยกระทงเชียงใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพียงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ให้คึกคักนั้นได้รับการคัดค้านจากคนเชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นข่าวที่น่าสนใจตามสื่อต่างๆ จนมีคำถามตามมาว่า แท้จริงแล้วการปล่อยโคมในงานยี่เป็งนั้นเป็นประเพณีหรือฮีตที่คนล้านนาโบราณถือปฏิบัติกันมาหรือไม่
ประเพณีลอยกระทงนั้น คนล้านนาจะเรียกว่า “งานยี่เป็ง” ซึ่งตรงกับช่วงเดือนยี่ ส่วนคำว่า “เป็ง” นั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวง จึงเรียกว่า “ยี่เป็ง” ในอดีตกาลนานมาประเพณีลอยกระทงนั้นทางภาคเหนือเรียกว่า “พิธีลอยโขมด” สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญในสมัยหริภุญชัย การลอยกระทงถือเป็นการระลึกนึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการบูชาพระพุทธบาท นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ
ในสมัยโบราณการลอยกระทงนิยมกระทำกันอย่างแพร่หลายในสังคมเกษตร ซึ่งผู้คนที่กระทำพิธีนี้ก็เพื่อบูชาขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้ประทานน้ำมาให้ใช้ในการเพาะปลูก จนต่อมาพิธีลอยกระทงได้รับการปรับเปลี่ยนให้ผสมผสานกับแนวคิดทางพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกถือว่าการทำพิธีลอยกระทงนั้นเป็นการบูชาพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่ในสายน้ำนัมทานที นอกเหนือจากความคิดดังกล่าวแล้ว การลอยกระทงยังมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันไปอีกหลายประการเช่นกัน บางแห่งถือว่าเป็นการบูชาพญานาค บูชาพระอุปคุต บูชาพระลักษมีเทวี บูชาพระเขี้ยวแก้ว รวมทั้งเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ปล่อยเสนียดจัญไรให้ไหลไปกับสายน้ำ
นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออื่น ๆ อีก บ้างก็ว่าการลอยกระทงเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เรียกว่า “ประเพณีจองเปรียง” ทำขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามองค์ คือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม บ้างก็ว่าเป็นการขอขมาลงโทษต่อแม่น้ำที่เคยทำให้แม่น้ำสกปรกมาตลอดปีในงานยี่เป็ง นอกจากการจุดผางประทีปโคมไฟและธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจดีย์และบูชาต้นโพธิ์แล้ว ยังมีประเพณีชักแขวนโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสา เพื่อเป็นพุทธบูชาก็มีความหมายหนึ่งในทางพุทธศาสนา โดยในการแขวนโคมไฟนี้อาจจะทำเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาและสามารถในการทำขึ้น จากเอกสารโบราณของล้านนาไม่ได้บอกที่มาของประเพณีการชักแขวนโคมไฟ
แต่อย่างไรก็ตามย้อนหลังไปเมื่อประมาณพันกว่าปีก่อน ในตำนานเรื่อง “สุวรรณโคมคำ” กล่าวถึงการชักแขวนโคมไว้ว่า มหาเสนาบดีซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเมืองสุวรรณโคมคำและเหล่าบรรดาบริวารทั้งหลายได้ชักโคมไฟขึ้นไว้บนปลายเสาที่ปักเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หรือ “ขลนที” เพื่อบนบานให้แพของพระราชธิดาคือสุวรรณทวารมุขลอยทวนกระแสน้ำขึ้นมา
แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการแขวนโคมไฟไว้ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ แต่ก็ไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เพราะเมื่อถึงเทศกาลยี่เป็งขึ้นมาคราใดก็มักจะเห็นบ้านเรือนประดับตกแต่งด้วยโคมไฟเสมอมา แต่อย่างน้อยความเชื่อหนึ่งที่บรรดาชาวพุทธทั้งหลาย พากันแขวนโคมไฟไว้ตามบ้านเรือนก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นการส่องแสงสว่างให้กับตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสีสันของงานยี่เป็งให้คึกคักสวยงามอีกด้วย
นอกจากนั้นในงานยี่เป็ง ก็จะมีหัววัดต่าง ๆ ทำโคมลอยขึ้นวัดละ 1 โคม เท่านั้นมีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ประมาณ 2 – 3 เมตร แต่จะจุดในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากตำนานโบราณและเอกสารต่าง ๆ ไม่ได้กล่าวถึงการจุดโคมขึ้นฟ้าแต่อย่างใด มีเพียงแต่การจุดประทีป คนล้านนาเรียก “ผางปะตีบ” ไว้ตามเสารั้วบ้านและการจุดโคมไฟแขวนไว้ตามบ้านเรือนเท่านั้น การปล่อยโคมที่จะทำขึ้นเพื่อบันทึกเป็นสถิติโลกและโปรโมทการท่องเที่ยวนั้นจึงไม่ได้เป็นฮีตฮอยของคนล้านนาในงานยี่เป็งแต่อย่างใด
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น