ทุ่มงบมโหฬาร สร้างทางปั่นจักรยานหนุนเที่ยวเชียงใหม่

เครือข่ายจักรยาน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าการตั้งธง ปั้นเชียงใหม่ ให้เป็น”เมืองจักรยาน” ของหลายภาคส่วน ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการเปิดตัวเส้นทางจักรยาน จากศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ-สนามกีฬาเชียงใหม่ 700 ปี-ห้วยตึงเฒ่า รวมระยะทาง4.5 กม. ด้วยงบก่อสร้างราวๆ 19.8 ล้านบาท เป็นความพยายามจุดประกาย ของทางหลวง ที่ขานรับความต้องการคนรักสุขภาพ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว นำร่องทางหลวง 121 ซึ่งมี 2 ช่องทางสัญจร ทั้งใช้วิ่งและปั่นจักรยาน ช่องทางจะมีทั้งขาไปและขากลับกว้าง 1.5 เมตร แม้จะเอื้อต่อผู้ใช้จักรยานทุกกลุ่ม แต่ก็ยังมีปัญหา การพลัดหลงของรถจักรยานยนต์ เข้ามาร่วมทางสัญจรเป็นบางครั้ง
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาทางจักรยาน 13 เส้นทางทั่วประเทศ จัดสรรงบพัฒนากว่า 400 ล้านบาท ซึ่งเชียงใหม่โชคดีได้เป็นเส้นทางนำร่อง มีแผนเชื่อมโยงจากเส้นทาง121 ต่อจากศูนย์ประชุมนานาชาติฯถึงสี่แยกภูคำ เพื่อเชื่อมเส้นทางเข้าสู่เขตตัวเมืองเชียงใหม่ในเขตเทศบาล งบ10 ล้านบาทเส้นทาง 121 จุดเริ่มจากถนนวงแหวนแยกแม่เหียะ-แยกราชพฤกษ์ (พืชสวนโลก)-แยกสะเมิง ระยะทางไม่เกิน 10 กม. งบ 30 ล้านบาท ในอนาคตกรมทางหลวงมีแผนสร้างทางจักรยานจากแยกสะเมิงเชื่อมไปถึงอ.สะเมิงด้วย ส่วนเส้นทางจักรยานถนนสายเลี่ยงเมืองสันป่าตอง-หางดง จาก บ.ทุ่งเสี้ยว-อ.สันป่าตอง-อ.หางดง ระยะทางราว 13 กม. ก็เป็นอีกเส้นทางที่สวยงาม
ในขณะที่ 3 เส้นทางคือ เส้นทางที่ 1 เส้นทางรอบคูเมืองเชียงใหม่ ระยะทางราวๆ 13.5 กม. ใช้งบ 8 ล้านบาท เส้นทางที่ 2 เวียงกุมกาม อ.สารภี ระยะทาง 9.7 กม.งบกว่าว 3.7 ล้านบาทเป็นเส้นทางในเขตเมืองและชุมชน เส้นทางที่ 3 สายพืชสวนโลก-พระธาตุดอยคำ-ไนท์ซาฟารี ระยะทาง 18 กม.เศษงบประมาณ 7.4 ล้านบาท เป็นเส้นทางสาธารณะ และเพื่อการท่องเที่ยว จัดสรรงบประมาณจากกรมพลศึกษา
การดำเนินโครงการ”เมืองปั่นจักรยาน” ในเชียงใหม่ ไม่ใช่มีเพียงทางหลวง และหน่วยงานด้านท่องเที่ยวร่วมบูรณาการแผน ยังพบว่า ท้องถิ่น เช่น อบจ. และเทศบาลนครฯได้ดำเนินโครงการปั่นจักรยานแอ่วเมืองเก่า เปิดโครงการเมื่อ 9 เมษายน 2558 ซึ่งขณะนั้นนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ยังเป็นรองผวจ.เชียงใหม่
โดยมีจุดบริการจักรยาน กระจายรายรอบเมืองเก่า ซึ่งใช้งบฯเท่าไหร่นั้น คงไม่ต้องบรรยายสรุปกระทั่งภาคเอกชน อย่างกลุ่มโมไบก์ เป็นตัวโครงการบริการจักรยานสาธารณะอัจฉริยะ วิธีการเข้าใช้นำโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์แท็บเล็ต สแกนคิวอาร์โค้ด หรือโหลดแอพลิเคชั่น คิดค่าบริการ 10 บาทต่อการใช้งาน 30 นาที ใช้เสร็จจอดไว้ที่ไหนก็ได้ ปักหมุดที่เชียงใหม่ในเฟสแรกกว่า 1 พันคัน เชียงใหม่ถือเป็นจังหวัดที่สองที่เอกชนรายนี้นำจักรยานสาธารณะมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากเริ่มให้บริการที่กรุงเทพเป็นที่แรก ซึ่งประชาชน นักท่องเที่ยวจะเห็นภาพจักรยานสีส้ม จอดเรียงราย บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) บริเวณหน้าสวนบวกหาด บริเวณกาดหลวง เป็นต้น เมื่อปีที่ผ่านมา
แม้จะเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เล็งเห็นอนาคต มองศักยภาพเชียงใหม่ น่าจะเป็นกิโลเมตรสุดท้ายในการเดินทาง รวมถึงเอกชนด้านแชริ่งรถจักรยานแบบต่างๆที่เชียงใหม่ ท้ายที่สุดผลเชิงประจักษ์ก็ชัดเจนอย่างที่รับรู้โครงข่ายจักรยาน และ แผนส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ในเชียงใหม่ ค่อนข้างไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ จนทำให้แผนพัฒนาเส้นทางในเขตเมืองเก่า ถูกจับจ้องการใช้งบประมาณนอกจากนั้น โดยกายภาพของเมืองโบราณ แม้จะเอื้อต่อการเดินเที่ยว แต่การปั่นจักรยาน ในเขตเมืองเก่า พฤติกรรมการใช้รถ ใช้ถนนของผู้คน รวมถึงสภาพผิวทาง น่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของการปลุกปั้น เชียงใหม่เป็นเมืองจักรยาน
สมาชิกเครือข่ายจักรยาน สันทราย เชียงใหม่ กล่าวว่า หากต้องการทราบเหตุผลมากกว่านี้ บรรดาเครือข่ายจักรยานแต่ละกลุ่ม ในเชียงใหม่ น่าจะมีคำตอบให้พร้อมกับเรื่องราวบอกเล่าถึง เหล่าสมาชิกสิงห์สันทราย ที่ค่อยๆหายไปจากการร่วมกิจกรรม บ้างก็เจ็บ -เสียชีวิต บ้างก็มีคำแนะนำ ย้ำเตือนว่า เชียงใหม่ในเขตเมืองไม่ปลอดภัย หากต้องการอรรถรส เพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจ ต้องไปใช้เส้นทางจักรยานรอบนอกเมือง หรือปั่นในสวนสาธารณะเส้นทางธรรมชาติ ดีกว่า
ส่วนประเด็นงบก้อนโตที่ใช้พัฒนาทางจักรยาน ก็เป็นเรื่องดี แต่ที่สิงห์นักปั่นเลือกใช้กันจริงๆ คงไม่ใช่เส้นทางที่พัฒนาขึ้น ข้ออ้างเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว เร่งใช้งบนั้นต้องพิจารณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย ไม่เช่นนั้น จะเป็นเรื่องคาใจสังคมอีกแผนงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น