เปิดตำนาน “แม่แจ่ม” มนตร์เสน่ห์แห่งเมืองในขุนเขา ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง

“แม่แจ่ม” มนตร์เสน่ห์แห่งเมืองในขุนเขา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นที่อาศัยของชนชาติลัวะ ซึ่งมีความเจริญไม่แพ้พวกขอม-มอญ ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ร่วมกัน เพียงแต่แยกการปกครองออกเป็นหมู่เหล่า เป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อพวกใด ชนใดมีความเข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองขึ้นปกครองกันเอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และได้สร้างวัฒนธรรมของตนจนรุ่งเรือง ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องปั้นดินเผา อาจจะเป็นเพราะในอดีตเมืองแจ๋มเป็นเส้นทางการค้าขายระหว่าง พม่า ไทย จีน และอินเดียก็เป็นได้ เพราะสินค้าของทุกประเทศตกทอดมาสู่รุ่นลูกหลานซึ่งได้รับจากบรรพบุรุษที่อยู่ในสมัยนั้นด้วยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น คิชฌกูฏ ในวิหารของวัดยางหลวง พระเจ้าตนหลวง วัดกองกาน พระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ศิลปะตระกูลช่างเชียงแสนและตระกูลช่างสุโขทัยซึ่งมีอายุเกิน 500 ปีขึ้นไป ดังนั้นเมืองแจ๋มก็น่าจะเป็นชุมชนมานานไม่ต่ำว่า 500 ปี ราวๆ ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.1800) สิงหนวัติกุมารได้พากลุ่มคนไท-ยวนอพยพมาจากยูนนานทางตอนใต้ของจีน ยึดอำนาจจากลัวะในสมัยปู่จ้าวลาวจก (ลวจักราช) บรรพบุรุษของพญามังราย แล้วสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่มีชนพื้นเมืองลัวะอาศัยอยู่ก่อน แต่อาศัยการวางตนเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าลัวะ ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไทเสื่อมอำนาจลง ปู่จ้าวลาวจกจึงสถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ กลุ่มคนไทจึงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศคนละทางเวลาล่วงเลยมานานแสนนาน เริ่มมีคนไทยพื้นที่ราบทั้งจากอำเภอจอมทองและอำเภอสันป่าตองเข้ามาหากินและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่ม เริ่มมีชุมชนและวัฒนธรรมของตนเอง และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2451ชื่อว่า อำเภอเมืองแจ่ม และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอช่างเคิ่ง ในปี พ.ศ.2560 (ปัจจุบันช่างเคิ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม) ตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าผา มีนายชื่นดำรงตำแหน่งนายอำเภอ แต่ขณะนั้นราษฎรอดอยากขาดแคลนและไม่นิยมการปกครองที่มีการเก็บภาษีอากร ในที่สุดจึงมีราษฎรกลุ่มหนึ่งเข้าปล้นที่ว่าการอำเภอและทำร้ายนายอำเภอจนเสียชีวิต ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอาศัยที่วัดช่างเคิ่งเพื่อความปลอดภัย มีนายสนิทเป็นนายอำเภอจนกระทั่งปี พ.ศ.2481 ทางราชการได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ และตั้งชื่อว่า กิ่งอำเภอแม่แจ่ม ขึ้นกับอำเภอจอมทอง และเมื่อปี พ.ศ.2499 ได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอแม่แจ่ม อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552 ได้มีการแบ่งพื้นที่ของตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และ ตำบลแม่แดด ออกไปจัดตั้ง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จึงทำให้อำเภอแม่แจ่ม มี 7 ตำบล จนถึงปัจจุบันตำนานสิงห์สองตัว เรื่องเล่าจากเมืองแจ๋ม เรียบเรียงโดยพระใบฏีกา วชิรญาโณ ตามตำนานเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ากับพระมหากิจจายนะ ได้จารึกผ่านมาทางที่ราบลุ่มน้ำแจ่ม (บริเวณวัดพระธาตุช่างเคิ่ง) ได้พบกับสิงห์สองพี่น้องกำลังต่อสู้กัน พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดแล้วไต่ถามได้ความว่า สิงห์สองพี่น้องต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในพื้นที่นี้ เมื่อได้ความเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแบ่งพื้นที่การปกครองให้โดยถามพ่อค้าที่ผ่านมาทางนั้นว่าขุนน้ำกับสบน้ำครึ่งกันตรงไหน พ่อค้าบอกว่าตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงเอาไม้ขีดเป็นรอยแล้วให้สิงห์ผู้พี่ปกครองเขตเหนือและสิงห์ผู้น้องปกครองเขตใต้ พระศาสดาได้ให้พระเกศาจำนวน 8 เส้น จึงได้สร้างสถูปบรรจุไว้ จากนั้นได้ทำการบูรณะจนกลายเป็นพระธาตุช่างเคิ่งและปั้นรูปพระกิจจายนะไว้ด้วย ต่อมารอยขีดที่พระพุทธเจ้าทรงขีดไว้นั้นกลายเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกชื่อว่า ห้วยชั่งเคิ่ง ซึ่งมีความหมายว่า ลำน้ำแบ่งครึ่งที่ตรงนั้น กระทั่งต่อมามีการเรียกชื่อลำห้วยนี้เพี้ยนเป็น ห้วยช่างเคิ่งเช้าวันต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าเฒ่าชาวลัวะผู้หนึ่ง นำปลาปิ้งครึ่งตัวมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามกลับไปว่า ปลาอีกครึ่งไปมีไหน ย่าลัวะจึงตอบว่า เก็บไว้ให้หลาน เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยินเช่นนั้นจึงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจ๋ม แต๊นอ” ต่อมาดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจ๋ม” (คำว่า “แจ๋ม” เป็นภาษาลัวะ แปลว่า มีน้อยไม่เพียงพอ ต่อมาคนไตญวน มาอยู่จึงเรียกชื่อตามสำนวนไตว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็น “แม่แจ่ม” ถือเป็นชื่อมงคลให้เมืองนี้มีความรุ่งเรืองแจ่มใส
ที่มา : ป่าบงเปียง นาขั้นบันไดดินแดนแม่แจ่ม
ภาพ : เมืองไทยน่าเที่ยว (ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพ)
อ้างอิง : เมืองไทยน่าเที่ยว , สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่แจ่ม,วิกิพีเดีย

ร่วมแสดงความคิดเห็น