“มัณฑะเลย์ – พุกาม” แหล่งอารยธรรมแห่งพุทธศาสนา

เมื่อพูดถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างพม่าขึ้นมา หลายคนอดจะนึกถึงภาพของกลุ่มคนที่ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และภาพของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประชาชนกับรัฐบาลทหารของพม่าไว้ไม่ได้หัวเมืองสำคัญที่เป็นอู่อารยธรรมและกรุสมบัติทางการท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างย่างกุ้งอย่างที่หลายคนคิด ย่างกุ้งแทบไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทางการท่องเที่ยวของพม่าเลย เพราะจุดสนใจทางศิลปวัฒนธรรมของพม่ารวมอยู่ทางภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะที่พุกามและมัณฑะเลย์เกือบทั้งหมด
มัณฑะเลย์ อดีตราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่าก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้มัณฑะเลย์จะเคยเป็นยุคทองของพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแบบพม่า แต่ด้วยความเป็นเมืองธุรกิจการค้าในดินแดนตอนเหนือของพม่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการเป็นตลาดใหญ่ของอัญมณีที่หลั่งไหลมาจากรัฐกะฉิ่นซึ่งอยู่ทางเหนือสุด มัณฑะเลย์จึงพลุกพล่านไปด้วยนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสจิตวิญญาณของพม่า เมื่อครั้งเคยรุ่งเรืองด้วยพระราชวังไม้สักทองและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมาปิดทองหรือทำบุญที่วัดยะไข่ หรือวัดมหามุณี อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามุณี หนึ่งในห้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำประเทศพม่า
เมืองมัณฑะเลย์ เคยเป็นราชธานีของเขตพม่าตอนบน แต่กลับมาอายุเก่าแก่ไม่ถึง 150 ปี และยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่เมืองของพม่าที่ยังคงใช้ชื่อเดิมเรื่อยมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง ชื่อมัณฑะเลย์ ฟังดูเก่าแก่โบราณพอ ๆ กับแม่น้ำเอยาวดี หรือ อิระวดี ที่ทอดสายไหลเอื่อยผ่านตัวเมืองแห่งนี้ เสน่ห์ของเมืองมัณฑะเลย์อยู่ที่การเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของระบอบกษัตรย์พม่า ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ย่างกุ้ง กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในเวลาต่อมาปัจจุบันมัณฑะเลย์เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากย่างกุ้ง และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าธุรกิจและตลาดอัญมณีของพม่าตอนเหนือ แต่กระนั้นในวงล้อมของตึกรามที่ติดจานดาวเทียมบนหลังคา มัณฑะเลย์จึงมีงานสถาปัตยกรรมแบบเครื่องไม้ ระดับสุดยอดอย่างวิหารทองคำที่วัดชเวนันดอ อีกทั้งมัณฑะเลย์เคยเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาของโลกยุคหนึ่ง ซึ่งปรากฏร่องรอยการชำระพระไตรปิฏก ครั้งที่ 5 ที่วัดกุโสดอ ทำให้เราเห็นกับตาจากแผ่นหินอ่อนจารึกหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้ง 729 แผ่น อันเป็นเหตุให้หนังสือกินเนสบุ๊คต้องจารึกว่า นี่คือหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้
แต่ครั้นใช้เวลาเพียง 20 นาทีจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งหน้าสู่พุกาม โดยสารการบินภายในประเทศ จะพบว่าความวุ่นวายของสังคมเมืองแบบพม่าอันตรธานหายไป กลายเป็นอารมณ์ละเมียด สุขสงบจากการพบเห็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวพุกาม
พุกามหรือปะกาน เป้าหมายทางการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวกันว่าหากใครเดินทางมาพม่าแล้วไม่ได้แวะเยือนเมืองพุกาม ก็ยังนับว่ามาไม่ถึงพม่า เมืองพุกามได้รับสมญาว่าเป็น “ดินแดนเจดีย์สี่พันองค์” ทว่าปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าเหลืออยู่เพียง 2,800 กว่าองค์ ความมีชื่อเสียงของพุกามผนวกกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ จึงทำให้องค์การยูเนสโกไม่ลังเลใจที่จะประกาศขึ้นทะเบียนเมืองประวัติศาสตร์พุกามแห่งนี้ให้เป็นมรดกโลก
อาณาจักรพุกามสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ผู้รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น หลังจากที่พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองตะโถ่งได้ในปี ค.ศ.1057 จากนั้นมาจึงมีการสร้างวัดวาอารามและสถูปเจดีย์ขึ้นบนที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ว่า 13,000 องค์ ในต้นคริตสศตวรรษที่ 2 พระเจ้าตะมุดะริด (สมุทรฤทธิ์) ทรงนำชาวพยูมาตั้งบ้านเรือนขึ้นในเขตที่ราบพุกาม หลังจากนั้นจึงได้ก่อสร้างกำแพงเมืงขึ้นล้อมรอบเมื่อ ค.ศ.849 ในรัชสมัยของพระเจ้าปหยิ่นปยา ครั้นเมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 42 แห่งราชวงศ์พุกาม พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองจนรุ่งเรือง พระเจ้าอโนรธาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1044 พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์พุกามด้วยการพิชิตราชธานีของชาวมอญและยังรับเอาศาสนาพุทธจากอินเดียกับศิลปวัฒนธรรมจากชาวมอญมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติตราบจนทุกวันนี้ เมืองพุกามเคยเป็นราชธานียาวนานถึง 250 ปี
ปัจจุบันเหล่าเจดีย์ที่แสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาของพุกามพังทลายไปตามกาลเวลากับด้วยเหตุแห่งการกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำอิระวดีพัดหายไปเป็นจำนวนมาก ในเวลาเพียง 700 กว่าปีมีเจดีย์สูญหายไปกว่าหนึ่งหมื่นองค์ แต่มรดกยุคทองของการสร้างวัดวาอารามที่เหลือตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมก็ยังนับว่ามีอยู่ไม่น้อย รวมถึงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี มีการจัดสรรที่อยู่ของประชาชนโดยไม่ให้รบกวนโบราณสถาน
พุกามเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สงบเงียบ เอื้อต่อการซึบซับรากฐานทางวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพม่าในยุคต่อมารวมไปถึงดินแดนล้านนาของไทย ความที่ไม่ใช่ศูนย์กลางธุรกิจการค้า จึงทำให้ถนนในเมืองพุกามไม่พลุกพล่าน เว้นแต่รถของนักท่องเที่ยวแล้วก็จะมีแต่รถม้าและจักรยานผ่านไปมาตามเจดีย์ต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง เขตโบราณสถานของพุกามนั้นได้รับการดูแลค่อนข้างดี บางแห่งมีการบูรณะขึ้นใหม่ ชุมชนเมืองกับเขตโบราณสถานแยกกันเป็นสัดส่วน เมื่อผ่านประตูเมืองเก่า (THARABAR GATE) เราจึงได้ยินแต่เสียงกอบแกบของเกือกม้าที่ย่ำไปบนถนนราดยางมะตอย สวนทางกับรถจักรยานที่เป็นพาหนะยอดฮิตของที่นี่ถ้าพุกาม ตั้งอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียแทนที่จะเป็นที่ราบอันร้อนและแห้งแล้งในภาคกลางของพม่าเช่นนี้แล้ว พุกามก็คงจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่ชาวตะวันตกไม่ต่างจากกำแพงเมืองจีนหรือทัชมาฮาลในอินเดียไปนานแล้ว และด้วยความที่พุกามตั้งอยู่ในดินแดนอันแร้นแค้นของพม่าจึงทำให้การเดินทางมาเยือนเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ในอดีตเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ทว่าปัจจุบัน การเดินทางไปมัณฑะเลย์ – พุกาม ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ใช้เวลาไม่นาน จะไปแบบแบ็คแพคหรือแบบกรุ๊ปทัวร์ก็ได้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพงอีกด้วย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น