ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย จัดกิจกรรมเครือข่ายรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำระดับหมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมเทวราช อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน เปิดกิจกรรมจัดทำเครือข่ายรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำระดับหมู่บ้านเพื่อการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประจำปี พ.ศ.2562 โดยมีนายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย กล่าวรายงานการจัดทำเครือข่ายรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำระดับหมู่บ้านเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนบน 2

ภัยพิบัติที่เกิดเป็นประจำจนกลายเป็นภัยประจำถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ คือ อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม รวมถึงภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนต่างได้ปรับเปลี่ยนแผน วิธีการในการป้องกัน แก้ไข รับมือ รวมถึงฟื้นฟู ต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ยังไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากข้อมูลอันสำคัญที่จะช่วย ในการเตรียมพร้อมรับมือป้องกันกันนั้น ยังขาดหายไม่ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน การคาดคะเน หรือการพยากรณ์ปริมาณน้ำที่เกิดจากการตกสะสมของฝนที่จะก่อให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง หรือมวลน้ำที่จะเกิดเป็นน้ำป่าไหลหลากนั้น

หากสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำก็จะสามารถบริหารจัดการสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการป้องกัน การเตือนประชาชนล่วงหน้า รวมทั้งการเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือหรือฟื้นฟูหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วม น้ำเอ่อล้นตลิ่ง หรือน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม อันจะทำให้ความสูญเสีย ความเสียหายลดลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย จึงจัดทำเครือข่ายรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำระดับหมู่บ้าน เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนบน 2 เพื่อให้มีการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนตรวจวัดและรายงานปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่รับน้ำฝนของพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

โดยคนในชุมชนเป็นเครือข่ายตรวจวัดและรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนประจำหมู่บ้าน คอยบันทึกและจัดส่งข้อมูลฝนส่งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่หรือส่วนกลางตามระยะเวลาที่กำหนด ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายบนโทรศัพท์เข้าสู่ฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่ายที่ออกแบบให้สามารถ ประมวลผล และแสดงผล ทั้งในรูปของตารางข้อมูลและแผนที่ได้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจะมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมทั้งสิ้น 1,041 คน ประกอบด้วยผู้นำระดับตำบลทุกตำบล และผู้นำระดับหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทั้งภาคทฤษฎี และการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดยวิทยากร ผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า การจัดทำเครือข่ายรายงานข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำระดับหมู่บ้าน เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน จะเห็นว่า ภัยพิบัติจากน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม หรือภัยแล้ง เป็นภัยที่สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทุกปี จนกลายเป็นภัยประจำถิ่น และอาจสร้างความเสียหายได้อีกหากยังไม่มีการเตรียมพร้อมและประสิทธิภาพที่ดี ดังนั้น การมีข้อมูลสำคัญซึ่งช่วยให้สามารถวางแผน เตรียมความพร้อมและการป้องกันได้อย่างครบถ้วน ก็จะช่วยให้สามารถลดอัตราการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว ตลอดจนไม่มีภัยพิบัติเกิดในพื้นที่ และสิ่งสำคัญต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของพวกเราทุกคน ที่จะช่วยให้บ้านของเรามีความปลอดภัย ยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น