ไปดู “วิหารลายคำ” ความงามตามแบบฉบับศิลปะล้านนา

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดที่สำคัญและเก่าแก่วัดหนึ่งของเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อราว 600 ปีมาแล้ว ภายในวัดนอกจากจะประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่โดยประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ ซึ่งวิหารหลังนี้นับว่ามีความสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาดั่งเดิม สร้างขึ้นจากไม้สักทั้งหลังวิหารลายคำ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ์ราช หรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาไทย องค์ที่ 13 พระองค์ทรงเห็นว่าวัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดให้บูรณะวัดพระสิงห์ใหม่ แล้วสร้างวิหารลายคำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำนี้มีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามปราณีตบรรจงมากแสดงให้เห็นฝีมือของช่างในยุคนั้นว่าเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือ มีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่บันไดหน้า และใกล้ ๆ พญานาคมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัว บริเวณฝาผนังในวิหารลายคำมีภาพเขียนสีน้ำมันด้วยฝีมือของช่างสกุลล้านนา ด้านทิศเหนือเขียนเรื่องสุวรรณหอยสังข์ ด้านทิศใต้เขียนภาพสุวรรณหงส์ ภาพบางส่วนถูกน้ำฝนและความชื้นทำให้ลบเลือนไป
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะตัววิหารลายคำให้มั่นคงแข็งแรง ภายในวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้างประมาณ ศอกเศษ พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระสิงห์นี้เป็น 1 ใน 3 ของพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทย เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงาม พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิสั้นขาดเหนือถัน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ไม่เสมอกัน วงพักตร์สั้นกลม ขนงโกง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปม เส้นพระศกใหญ่ไม่มีไรพระศกเป็นขอบ ตอนต่อกับวงพระพักตร์ พระเมาลีเป็นต่อมคล้ายดอกบัวตูม ฐานเป็นบัวหงายมีกลีบน้อยแซมตอนชั้นบนและมีเกสร เป็นลักษณะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นเก่า ทุกปีเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางราชการจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกแห่ไปรอบเมืองเพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้พากันมาสรงน้ำเนื่องในเทศกาลปีใหม่วัดพระสิงห์ นอกจากจะมีประวัติการก่อสร้างมายาวนานจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกแล้วนั้น วัดพระสิงห์ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ที่ให้ความศรัทธาและจะเดินทางมาเคารพสักการะกันอย่างเนื่องแน่นเป็นประจำ ดังนั้นโบราณสถานโบราณวัตถุและศิลปกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในวัดนี้จึงมีคุณค่ายิ่งต่อจิตใจของชาวเชียงใหม่อย่างแยกจากกันไม่ออก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น