แม่โจ้โพลล์ชี้ คนไทยโอด เนื้อหมูแพง กระทบค่าครองชีพ แนะรัฐเร่งช่วยเหลือ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,330 ตัวอย่าง (ภาคเหนือร้อยละ 54.48 ภาคกลางร้อยละ 19.14 ภาคใต้ร้อยละ 18.74
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7.64) ระหว่างวันที่ 7 – 19 สิงหาคม 2562 ในหัวข้อ ราคาเนื้อหมูแพงกระทบผู้บริโภคหรือไม่ อย่างไร? โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเนื้อหมูต่อผลกระทบจากราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้น จากสถานการณ์ที่สถิติราคาเนื้อหมูเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมาพบว่า เนื้อหมูได้ปรับราคาสูงขึ้นจากราคา 140 – 150 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 160 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 6 ปี (กรมการค้าภายใน, 2562) โดยผลการสำรวจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.53 เน้นว่าราคาเนื้อหมูแพงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมา ร้อยละ 13.81 ไม่ทราบว่าราคาเนื้อหมูแพงขึ้นหรือถูกลง ส่วนร้อยละ 5.13 คิดว่าราคาเนื้อหมูเท่าเดิม โดยมีเพียงร้อยละ 0.53 คิดว่าราคาเนื้อหมูมีราคาที่ถูกลงจากราคาเนื้อหมูที่ปรับสูงขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.10 ที่ได้รับผลกระทบ
มีเพียงร้อยละ 26.90 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาจากราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 49.29 แก้ไขโดยวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและประหยัดมากขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 45.49 แก้ไขโดยการหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่นทดแทน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา และเนื้อวัว อันดับ 3 ร้อยละ 45.11 แก้ไขโดยลดปริมาณการบริโภคเนื้อหมูลงหรืองดการบริโภคช่วงที่ราคาแพงขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 15.33 แก้ไขโดยหยุดบริโภคเนื้อหมูและหันไปกินเจหรือมังสวิรัติแทน ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา คือ อันดับ 1 ร้อยละ 58.65 ควรส่งเสริมให้มีตลาดธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อขายเนื้อหมูราคาประหยัดสำหรับประชาชนทั่วประเทศ
อันดับ 2 ร้อยละ 57.74 ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเนื้อหมูในต้นทุนที่ต่ำได้
อันดับ 3 ร้อยละ 42.33 ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน
อันดับ 4 ร้อยละ 16.92 งดการส่งออกหมูไปยังต่างประเทศเนื่องจากเป็นต้นเหตุทำให้เนื้อหมูขาดแคลนและมีราคาแพงขึ้น และ อันดับ 5 ร้อยละ 8.20 เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการรับมือและปรับตัวต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.22 ใช้วิธีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 8.22 ใช้วิธีปลูกผักสวนครัวไว้เพื่อบริโภคและลดรายจ่ายในครอบครัว ร้อยละ 5.23 หันไปบริโภคอาหารอย่างอื่นที่มีราคาถูกลง และ ร้อยละ 3.27 หารายได้เสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว
จากผลการสำรวจ จะเห็นได้ว่าเนื้อหมูซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยนิยมบริโภคได้ปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ทำให้มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยจากผลการสำรวจได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการส่งเสริมให้มีตลาดธงฟ้าราคาประหยัด โดยมีการขายเนื้อหมูในราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของประชาชน ที่มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 มาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังจะเห็นได้ว่าหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถนำมาปรับใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาของคนไทยได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งก็จะเป็นการช่วยให้คนไทยสามารถผ่านช่วงเวลาที่ค่าครองชีพสูง และ ยุค “ข้าวยากหมากแพง” นี้ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น