โรคซึมเศร้า ภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทย ภัยใกล้ตัวที่ต้องเรียนรู้

จากข่าวที่อ่านพบเจอใน เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ ในขณะนี้มักจะพบกับข่าวการฆ่าตัวตาย ด้วยสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะหลายครั้งมักเกิดกับคนใกล้ชิด ที่เราไม่คาดคิดว่าเขาเหล่านั้นกำลังประสบปัญหา เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ จึงอยากนำเสนอข้อมูลให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงการเป็น โรคซึมเศร้า ว่าเป็นอย่างไร
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง สถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพและเป็นโรคใกล้ตัว ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี 2560 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลก 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก
โดย 5 อันดับ ปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก และปัญหาครอบครัว สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง
สาเหตุหลักๆเกิดจาก
การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงถึง 1.5-2 เท่า
มีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่มีผลต่ออารมณ์ซึมเศร้าของคน มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น วัยทอง หรือหลังคลอดบุตร โรคการเจ็บป่วยทางกาย เช่น โรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว
ตัวยาบางชนิดทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เช่น ยาลดความดัน เกิดจากความเครียด การสูญเสียพลัดพราก หรือพบเจอกับเหตุการณ์ ที่กระทบจิตใจขั้นรุนแรง  ผิดหวังซ้ำซากจากประสบการณ์ทางลบในวัยเด็ก เก็บกด หนีปัญหา
วิธีการรักษามี 2 วิธีคือ
การใช้ยา เป็นยาแก้ซึมเศร้า จะมีด้วยกันหลายกลุ่ม และยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆได้บ้าง จึงต้องพบจิตแพทย์สม่ำเสมอตามนัด การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือการใช้ยาที่ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นความผิดปกติทางจิตใจ ในด้านความคิด การรับรู้ อารมณ์ และสังคม ที่แสดงออกให้เห็นได้ทางพฤติกรรมที่แปลกๆ และผู้อื่นไม่เข้าใจ โดยผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่ขาดการตระหนักรู้ในตนเอง ไม่รู้ว่าตนเองผิดปกติ ไม่อยู่ในโลกของความจริง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเภทก็ตาม เราไม่ควรรังเกียจหรือมองเขาเป็นพวกแปลกแยก เราควรให้กำลังและช่วยเหลือ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรค
สำหรับเบอร์โทรสายด่วน-รายชื่อโรงพยาบาล ที่มีจิตแพทย์ให้การรักษาโรคซึมเศร้า
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย รวมรายชื่อโรงพยาบาลและคลินิกรัฐ-เอกชนทั่วประเทศ ที่มี จิตแพทย์ให้บริการ จิตแพทย์ทั่วไปจะตรวจรักษาผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากอายุน้อยกว่า 18 ปี ต้องพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในการใช้บริการ แนะนําให้โทรสอบถามรายละเอียดก่อนล่วงหน้า ทั้งตารางออกตรวจ คิวนัด และค่ารักษาพยาบาล (กรณีโรงพยาบาลเอกชน)
โทรสายด่วน ปรึกษาปัญหาเบื้องต้น
สายด่วนที่สามารถโทรขอคําปรึกษา เพื่อแนะนําการส่งต่อไปยังจิตแพทย์ของกรมสุขภาพจิต และหน่วยงานต่าง ๆ มีดังนี้
1. สายด่วน 1323
เบอร์นี้สําหรับพูดคุยปรึกษา ผู้ที่ให้คําปรึกษาส่วนใหญ่เป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล วิชาชีพ
1. Depress we care โรงพยาบาลตํารวจ สายด่วน 081-932-0000
2. สมาคมสะมาริตันส์ แห่งประเทศไทย โทร. 02-713-6793 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
เมื่อปรึกษาสายด่วนแล้ว หากมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เจ้าหน้าที่จะแนะนําโรงพยาบาล ตามสิทธิ รักษาพยาบาลใกล้บ้านหรือที่สะดวก เพื่อให้เข้าดําเนินการรักษาโรคต่อไป
โรงพยาบาลรัฐบาล ในเวลาราชการ จะไม่มีค่าตรวจของแพทย์ ไม่ว่าสิทธิ์การรักษาใด แต่จะมีค่าบริการประมาณ 50-100บาท , คลินิกนอกเวลา มีค่าตรวจเหมือนโรงพยาบาลเอกชน แตกต่างกันไปแล้วแต่ที่ ในส่วนของยา ถ้าสิทธิ์ไม่ครอบคลุม ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง แต่ถ้าครอบคลุม ก็ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิทธิ์การรักษามีหลายอย่าง , ยามีหลายชนิด , โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง อาจมีเขตความรับผิดชอบหลายจังหวัด และรายละเอียดการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน ขอแนะนำให้โทรถามเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะไป จะดีที่สุดค่ะ จะได้ไม่เดินทางไกลแล้วเสียเที่ยว
ส่วนในภาคเหนือนั้น สามารถติดต่อรับคำปรึกษาได้ที่
– โรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่
– โรงพยาบาลเชียงใหม่-ราม (เอกชน)
– โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์ เชียงใหม่
– โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก)
– โรงพยาบาลสวนปรุง (จ.เชียงใหม่)
– โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
– โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ (เอกชน) จ.เชียงราย
– โรงพยาบาลน่าน
– โรงพยาบาลแพร่
– โรงพยาบาลลำปาง
– โรงพยาบาลลำพูน
– โรงพยาบาลธัญญารักษ์ แม่ฮ่องสอน
– โรงพยาบาลสุโขทัย
– โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
– สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ (จ.เชียงใหม่)
[ หมายเหตุ : จ.พะเยา ไม่มีจิตแพทย์ประจำ
มีจิตแพทย์จาก จ.แพร่ ไปออกตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ต้องสอบถามทางโรงพยาบาลว่า เป็นวันที่เท่าไหร่ในแต่ละเดือน ]
ขอบคุณข้อมูล สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น