สัมผัสบรรยากาศลำน้ำโขงที่ “แก่งผาได”

แม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน และบริเวณที่ราบสูงธิเบต ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ผ่านประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร เป็นความยาวในประเทศจีน 2,130 กิโลเมตร ช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านมีชื่อเรียกเป็นภาษาของไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนาว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” มีความหมายว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และไหลผ่าน 6ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ และเมื่อไหลผ่านเข้าเขตประเทศพม่า และประเทศลาว เรียกว่า แม่น้ำของ ในภาษาไทยเรียกว่า แม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้ยังเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ปลายของแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนามนี้ได้แยกออกเป็น 9 สายก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ คนเวียดนามเรียกว่า “ 9 มังกร” สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำนี้จึงเป็นที่สะสมตะกอนดินซึ่งมีคุณค่า เป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี และเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก
ลักษณะสำคัญของแม่น้ำโขงคือ มีตลิ่งที่สูงชันมากทั้งสองฝั่ง ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา กระแสน้ำจะไหลจากทางเหนือลงสู่ทางใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล ดินในแม่น้ำโขงเป็นดินทราย มีเกาะแก่งน้อยใหญ่กว่าหนึ่งร้อยแห่งเรียงรายตลอดแม่น้ำ ทำให้ได้รับการขนานนามว่า แม่น้ำดานูบตะวันออก แม่น้ำโขงเริ่มไหลผ่านดินแดนประเทศไทยที่บริเวณสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอเชียงของ ก่อนไหลเข้าประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย รวมความยาวช่วงที่แม่น้ำโขงไหลเป็นพรมแดนไทย-ลาวที่จังหวัดเชียงรายเป็นระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร แก่งผาได จึงนับเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ผ่านดินแดนภาคเหนือของไทย ก่อนที่จะไหลวกกลับเข้ามายังดินแดนไทยอีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเชียงคาน จ.เลย
สำหรับ “แก่งผาได” ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแก่นตามเส้นทางรถยนต์ ประมาณ 12 กิโลเมตร เส้นทางไปแก่งผาไดเป็นทางราดยางตลอดสาย ช่วงสุดท้ายไหลตัดเลียบขนานไปกับแนวลำน้ำโขงมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งซึ่งน้ำลดระดับมองเห็นเกาะแก่งและหาดทรายในแม่น้ำโขงได้สวยงาม ทางตำบลม่วงยายได้จัดทำจุดแวะพักผ่อนสองจุดคือที่แก่งก้อนคำ และแก่งผาได ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนเวียงแก่น และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวผาตั้ง ภูชี้ฟ้า ตามเส้นทางเชียงของ – เวียงแก่น โดยมีระยะทางไปกลับจากตัวอำเภอเวียงแก่นเพียง 24 กิโลเมตร ลักษณะของแก่งผาได เป็นหินสีดำตัดกับสีของหาดทรายขาวที่โผล่ขึ้นมาในลำน้ำโขงช่วงหน้าแล้ง ราวช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนพฤษภาคม มีเรือโดยสารของไทยและลาววิ่งผ่านบริเวณนี้เป็นระยะ ๆ และบริเวณริมแก่งเป็นเนินเขา ซึ่งได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะปลูกไม้ประดับสวยงาม มีศาลาพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์ของภูเขาฝั่งลาว บริเวณริมแก่งเหมาะเป็นที่กางเต็นท์พักแรม มีลานกางเต็นท์ ห้องน้ำ และร้านอาหารประเภทส้มตำและปลาแม่น้ำโขงให้บริการแก่งนี้ นอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้ว ยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งกำเนิดไก ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกันมีแก่งหินใต้น้ำ
หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำเล่นทรายของนกอีกด้วย และมีแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ คือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาคขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำในฤดูน้ำหลาก และโผล่เหนือน้ำในฤดูน้ำลดมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า ผาตั้ง ก็จะแวะมาท่องเที่ยวที่แก่งผาไดแห่งนี้ด้วย
แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงหน้าฝน แต่หลายพื้นที่ยังมีสภาพแห้งแล้ง รวมทั้งลำน้ำโขงที่แห้งลงและเต็มไปด้วยแก่งหิน แต่กลับเป็นความสวยงามของธรรมชาติที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับเวียงแก่น อำเภอเล็ก ๆ ติดชายแดนลาวด้าน จ.เชียงราย จุดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านภาคเหนือ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สวยงามอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายตามสภาพธรรมชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ย่อมเป็นต้นทุนสำคัญยิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน ดังนั้นถ้าหากต้องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จึงควรพิทักษ์รักษาธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์คงอยู่อย่างเกื้อกูลต่อทรัพยากรธรรมชาตินั้น ด้วยความหลากหลาย ด้วยการเคารพและศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น