กรมชลประทานเร่งศึกษาอ่างเก็บน้ำในโครงการพระราชดำริ จังหวัดลำปาง 2 แห่ง

กรมชลประทาน ลุยศึกษา EIA อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 20,000 ไร่ แบ่งเป็น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 10,590 ไร่ และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 9,200 ไร่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานกำลังเร่งศึกษาโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม ในจังหวัดลำปาง

โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่การเกษตรของประชาชน ซึ่งมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคของประชาชนในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำต้นทุนช่วงฤดูแล้ง โดยใช้แนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า “ทั้ง 2 โครงการนั้น เป็นโครงการที่ประชาชนได้ร้องขอให้มีโครงการอ่างเก็บน้ำขึ้น โดยโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม ผ่านทางการยื่นฎีกาไปยังพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร และโครงการอ่างแม่ปานผ่านทางการยื่นฎีกาไปยังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

โดยโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม ประชาชนได้ขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำไปยังสำนักงาน กปร. ให้ช่วยเหลือพื้นที่ตำบลบ้านขอ 5 หมู่บ้าน และตำบลทุ่งกว๋าว 1 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และทางสำนักงาน กปร. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งกรมชลประทานเป็นหน่วยงานที่สามารถดำเนินงานเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทานตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ
กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 2 ได้ทำการตรวจสอบสภาพพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชน โดยทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม พบว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลำน้ำแม่บอม (ลำน้ำสาขาของน้ำแม่ตุ๋ย) จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคของราษฎรหมู่บ้านที่ร้องขอโครงการได้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือเลขที่ รล.0005.4/726 แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่บอม (แม่ตุ๋ย) พร้อมอาคารประกอบไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ประชาชนได้มีหนังสือฎีกาเรื่องขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2545 ณ บ้านทุ่งจี้ หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง โดยร้องขอให้จัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ในขณะที่น้ำแม่ปาน ซึ่งอยู่ในเขตบ้านทุ่งโป่ง หมู่ 1 ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ไม่สามารถใช้น้ำในการเกษตรได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากไม่มีอ่างเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เต็มที่และมีผลผลิตตกต่ำ จึงมีความต้องการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน

เนื่องจากทั้งโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอมมีอาคารหัวงานโครงการ และพื้นที่น้ำท่วมของอ่างเก็บน้ำ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562
ทั้งนี้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นแคด คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 450 วัน และสิ้นสุดการศึกษาในเดือนกันยายน 2562 ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วยบริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทเอสเค แมเนจเมนท์ แพลนนิ่ง จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 450 วัน และสิ้นสุดการศึกษาในเดือนกันยายน 2562
ในประเด็นเรื่องพื้นที่รับประโยชน์ และรายละเอียดอื่นๆ ของโครงการทั้ง 2 นั้น แบ่งได้เป็น 1. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งน้ำเข้าพื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง จากท่อส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำ ขอบเขตพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการ 13,425 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 10,590 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่รับประโยชน์น้ำแม่ปาน จำนวน 6,200 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 4,540 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์บ้านขอ จำนวน 7,225 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 6,050 ไร่
โดยสรุปข้อมูลระบบส่งน้ำและส่วนประกอบของระบบชลประทานของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน แบ่งเป็น พื้นที่รับประโยชน์เมืองปาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ พื้นที่รับประโยชน์ในลำน้ำแม่ปาน จะรับน้ำที่ระบายจากอ่างเก็บน้ำแม่ปานลงลำน้ำแม่ปาน และมีฝายทดน้ำเพื่อทดน้ำส่งน้ำเข้าลำเหมือง และคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานน้ำแม่ปาน มีพื้นที่รับประโยชน์ 4,648 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 3,292 ไร่ มีฝายส่งน้ำ จำนวน 6 แห่ง ซึ่งการออกแบบเบื้องต้นจะครอบคลุมการปรับปรุงฝายส่งน้ำเดิมและระบบส่งน้ำสายหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ และยังมีพื้นที่บางส่วนที่รับน้ำจากท่อส่งน้ำสาย 1 ขวา ท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่ที่ระบบเหมืองฝายเดิมส่งน้ำไม่ถึง และพื้นที่รับประโยชน์ในลำน้ำแม่แมะ มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,552 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 1,248 ไร่ จะรับน้ำจากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก จากอ่างเก็บน้ำแม่ปาน ด้วยท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็ก เป็นท่อส่งน้ำฝั่งซ้าย (LMC) มีความยาว 2 กิโลเมตร เพื่อส่งเข้าลำน้ำแม่แมะที่หน้าฝายทุ่งลุ่ม เข้าระบบเหมืองฝายเดิม จำนวน 6 แห่ง

 

พื้นที่รับประโยชน์บ้านขอแบ่งเป็น 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ พื้นที่รับประโยชน์ในลำน้ำกวม พื้นที่รับประโยชน์ 2,455 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 2,027 ไร่ จะรับน้ำจากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก จากอ่างเก็บน้ำแม่ปาน ด้วยท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็ก เป็นท่อส่งน้ำฝั่งขวา (RMC) มีความยาว 8 กิโลเมตร เพื่อส่งเข้าน้ำกวมที่หน้าฝายทุ่งส้าน เข้าระบบเหมืองฝายเดิม จำนวน 6 แห่ง และพื้นที่รับประโยชน์ในห้วยแม่ก่ำ มีพื้นที่รับประโยชน์ 4,770 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ชลประทาน 4,023 ไร่ จะรับน้ำจากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งด้วยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก จากอ่างเก็บน้ำแม่ปาน ด้วยท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็ก คือท่อส่งน้ำ 1 ซ้าย ท่อส่งน้ำฝั่งขวา (1R-RMC) เป็นท่อส่งน้ำแยกจากท่อส่งน้ำฝั่งขวา มีความยาว 5 กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่รับประโยชน์ห้วยแม่ก่ำ ส่งน้ำจากจุดปล่อยน้ำตามแนวท่อส่งน้ำ
2. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง มีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่หมู่ 3 บ้านป่าเหว ตำบลบ้านขอ การพัฒนาโครงการ ซึ่งมีความจุเก็บกักประมาณ 12.48 ล้านลูกบาศก์เมตร จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านขอและตำบลทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภคในทุกหมู่บ้านรวม 16 หมู่บ้าน รวมถึงสามารถส่งช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ในฤดูฝน 9,200 ไร่ และในฤดูแล้ง 6,166 ไร่ ซึ่งมากกว่าการเพาะปลูกในปัจจุบันที่มีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูฝนเท่านั้น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง สรุปลักษณะโครงการ ได้ดังนี้
เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ : มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 798 เมตร ความสูงสันเขื่อน 51 เมตร ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก12.48 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่น้ำท่วมที่ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 454 ไร่ พื้นที่ชลประทานโครงการ แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ชลประทานปัจจุบัน จำนวน 7,200 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ จำนวน 2,000 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 9,200 ไร่
พื้นที่ชลประทานมีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่ม การส่งน้ำจะใช้ระบบเหมืองฝายเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยการทำการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งน้ำเดิม เช่น การปรับปรุงฝายชั่วคราวให้เป็นฝายถาวร พร้อมกับการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด ร่วมกับคอนกรีตคลองส่งน้ำสายหลักของฝายต่างๆ เพื่อให้สามารถกระจายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่จำนวน 7,200 ไร่ สำหรับพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ ที่มีสภาพเป็นที่ดอน การส่งน้ำจะใช้ระบบท่อส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วง ที่ส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่บอม ผ่านอาคารท่อส่งน้ำชลประทานฝั่งซ้าย รวมความยาวทั้งสิ้น 10.50 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน จำนวน 2,000 ไร่
ทั้งนี้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่บอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง มีค่าลงทุนโครงการรวมทั้งสิ้น 1,145.09 ล้านบาท การพัฒนาโครงการโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ตระหนักและให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น