พลิกอดีต!! มะเทมิ้นสาวพม่าผู้แหวกม่านประเพณีบูชารักยิ่งชีพ ตำนานรักอมตะของเมืองเชียงใหม่

ความรักของ “มะเทมิ้น” สาวพม่าผู้นี้อาจจะเปรียบได้ไม่เท่ารักของ “มะเมียะ” สาวพม่าผู้อันเป็นตำนานอมตะของเมืองเชียงใหม่ เพียงแต่ “มะเทมิ้น” เธอได้สมหวังในรักและได้ตายอยู่กับคนรักของเธอ…….
“มะเทมิ้น” เป็นลูกสาวของ “อูหย่า” พ่อค้าผู้มั่งคั่งชาวพม่า มีบ้านอยู่ถนนท่าแพบริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน เธอได้รับการศึกษาเล่าเรียนภาษาไทยและเข้าใจในประเพณีไทยเป็นอย่างดี ผิดกับพี่ๆน้องๆทุกคนของเธอ เนื่องจากชาวพม่าทุกบ้านจะเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเป็นอย่างมากจะไม่สังคมกับคนภายนอก แม้แต่การติดต่อกับชายหนุ่มใดๆที่พ่อแม่ไม่มีส่วนรู้เห็นและรับรอง “อูหย่า” พ่อค้าชาวพม่าผู้นี้ไม่ยอมให้ลูกๆโดยเฉพาะลูกสาวได้แต่งงานกับชาวต่างเชื้อชาติ นอกจากสายเลือดชาวพม่าด้วยกัน โดยหาว่าชาวต่างชาติชอบทิ้งขว้างไม่รักจริง…….แต่กำแพงสูงของบ้าน “อูหย่า” หาได้ขวางความรักของหนุ่มไทยได้ไม่…..
“ขุนวิพันธ์วิทยาศาล” หนุ่มวัยยี่สิบสองจากพระนครผู้มีตำแหน่งถึงผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และเป็นผู้สะเทือนใจที่หญิงคนรักหนีไปแต่งงานกับคนอื่น จึงผิดหวังในความรัก เมื่อย้ายมาอยู่เชียงใหม่จึงอยากมีคนรักที่เป็นสาวชาวเหนือบ้าง แต่ “ขุนวิพันธ์วิทยาศาล” กับไปติดเนื้อต้องใจ “มะเทมิ้น” สาวพม่าผู้เป็นลูกสาว “อูหย่า” พ่อค้าชาวพม่าของเชียงใหม่ผู้หึงหวงลูกสาวยิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง ความรักของคนทั้งสองได้อาศัย “ครูอรุณ” ซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยที่บ้าน “มะเทมิ้น” ชักนำในการติดต่อเข้าออกได้สะดวก
อีกหนึ่งปีต่อมา ได้มีคำสั่งย้ายขุนวิพันธ์วิทยาศาล ไปเป็นผู้พิพากษาศาลลำปาง เมื่อสองหนุ่มสาวผู้มีปัญหารักกับผู้เป็นพ่อจึงตัดสินปัญหารักนี้ด้วยตนเอง ทางออกสุดท้ายคือแหวกวงล้อมประเพณีหนีตามกันไปตายเอาดาบหน้า
“อาศัยความมือเป็นม่านบังของราตรีหนึ่งนั้นเอง เขา ขุนวิพันธ์วิทยาศาล ในวัย ๒๒ ปีและมะเทมิ้นอายุ ๑๗ ปี ก็ชวนกันหลบออกจากบ้านเดินลัดเลาะเข้าตรอกเล่าโจ้ (ตรอกข่วงเมรุเดี๋ยวนี้)ไปออกถนนวิชยานนท์ (ข้างร้านแม่หย่อย) พอไปถึงปากตรอกวิชยานนท์นี้เอง อาศัยที่มะเทมิ้นไม่เจนจัดกับถนนหนทางเพราะไม่ค่อยได้รับอนุญาตออกนอกบ้านบ่อยๆ จึงชวนขุนวิพันธ์คนรักเลี้ยวขวาซึ่งก็หมายกลับไปสู่บ้านตนเอง ให้ผู้ใหญ่จับได้เท่านั้นเอง สองคนเถียงกันเรื่องถนนหนทางอยู่พักใหญ่ จึงตัดสินใจเลี้ยวซ้ายไปขึ้นสะพานไม้ข้ามลำน้ำปิง (ตรงตรอกข้างร้านวิศาลบรรณาคารเดี๋ยวนี้) มุ่งไปยังบ้านพระราชนายก (อิ่นคำ ปทุมอินทร์) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ๆเป็นโรงพยาบาลจินดาสิงหเนตรขณะนี้”
เมื่อทั้งสองได้ออกเดินทางไปจังหวัดลำปาง ทิ้งความโกลาหลอลหม่านภายในบ้านอูหย่าพ่อค้าชาวพม่าไว้เบื้องหลัง อูหย่าโกรธแค้นที่ถูกขุนวิพันธ์วิทยาศาลลบหลู่ดูหมิ่นในคราวนี้ จึงเดินทางเข้าพึ่งสถานกงศุลอังกฤษที่ถนนเจริญประเทศและบังเอิญได้พบกับหลวงโยนการพิจิตร (ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการค้าไม้สักชาวพม่าจนได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวง) และได้คุยเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นให้ฟัง คุณหลวงโยนการพิจิตร (ปันโหย่อุปโยคิน) จึงทักท้วงว่าไม่สมควรที่จะให้เรื่องเล็กๆกลายเป็นเรื่องใหญ่เลย โดยกล่าวว่าขุนวิพันธ์วิทยาศาลก็เป็นคนดีมีทางก้าวหน้าปล่อยให้เลยตามเลยเสียจะดีกว่า เรื่องทั้งหมดจึงจบลง
คุณหญิงวิทยาศรัยหรือนามเดิม มะเทมิ้นได้เดินทางติดตามขุนวิพันธ์วิทยาศาลไปรับราชการในที่ต่างๆหลายจังหวัดและจังหวัดพิษณุโลกนี้เองที่คุณหญิงวิทยาศรัยได้ล้มป่วยด้วยโรคฝีในตับและถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เจ้าคุณและคุณหญิงมีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ คุณยง วิทยาศรัย.
เรียบเรียงจาก : หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๗
ขอขอบคุณ:Kesasorn Thiphomg

ร่วมแสดงความคิดเห็น