เตาอินทขิลแม่แตง อายุกว่า 700 ปี

อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่เป็นอำเภอหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ด้วยมีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของน้ำแม่แตง นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ต่างรู้จักชื่อเสียงของอำเภอแม่แตงจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ ปางช้างแม่ตะมาน ปางช้างเชียงดาว เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล รวมถึงการล่องแพบนลำน้ำแม่แตง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่มีใครรู้ว่า บริเวณแห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่มีอายุกว่า 700 ปีคือ แหล่งเตาเผาอินทขิลเตาเผาอินทขิล ตั้งอยู่บ้านสันป่าตอง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามซึ่งเป็นแหล่งใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ตามเอกสารการขุดค้นทางโบราณคดีของเตาเผาอินทขิลของนายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ กล่าวถึงการพบเตาเผาเป็นครั้งแรกว่าในปี 2536 นายภาสกร โทณวนิก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และ รศ.สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจพบร่องรอยดินเผาไฟรูปวงกลมในบริเวณบ้านของนายดวงดี ใจทนง ชาวบ้านสันป่าตอง และได้ทำการขุดสำรวจทางโบราณคดีเพื่อศึกษาร่องรอยปล่องระบายความร้อนและหลังคาเตาเผาบางส่วน
กระทั่งในปี 2539 ได้มีการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจึงทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามสมัยโบราณ ซึ่งปรากฏร่องรอยหลักฐานเป็นปากปล่องเตาบนผิวดิน 2 แห่ง เตาเผาที่ค้นพบก่อด้วยอิฐ เป็นปล่องกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร นอกจากนั้นบริเวณทั่วไปยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวอ่อน และเคลือบสีน้ำตาลแกมเขียวเข้ม เนื้อดินสีเทาและเศษภาชนะดินเผาเนื้ออ่อนไม่เคลือบผิว
กระทั่งต่อมาชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงได้แจ้งให้ไปตรวจสอบโบราณวัตถุที่ “เนินขมุ” ในป่าห้วยช้างตาย พบเศษเครื่องถ้วยชามจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งเตาเผาถ้วยชามอีกแห่งหนึ่ง และเมื่อคณะทำการสำรวจต่อไปบริเวณหลังวัดมืดกา พบว่ามีเตาเผาอยู่ที่ถนนตามลาดชายเนินเขา และพบปล่องเตาเผาก่อด้วยดินเหนียวเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในที่ดินเอกชน
จากการสำรวจของนักโบราณคดีทำให้ทราบว่าลักษณะของเตาเป็นเตาเผาเครื่องถ้วยชาม ก่อโครงสร้างด้วยดินเหนียวแบบระบายความร้อนผ่าเฉียงขึ้น รูปร่างคล้ายไห จึงถูกเรียกว่า “เตาไห” โดยมีช่องใส่ไฟอยู่บริเวณด้านหน้าของเตาสำหรับเป็นช่องลำเลียงภาชนะดินเผาเข้าบรรจุ ตอนกลางของเตาใช้เป็นพื้นที่วางภาชนะ ส่วนตอนหลังใช้เป็นปล่องระบายความร้อนส่วนหลักฐานผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามที่ถูกค้นพบนั้น เป็นเครื่องถ้วยชามเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวอ่อน เรียกชื่อว่า เซลาดอน หรือ ศิลาดล และชนิดเคลือบสีน้ำตาล ใช้ดินสีขาวคุณภาพเยี่ยมเทียบได้กับเครื่องถ้วยสังคโลกของศรีสัชนาลัย ที่สำคัญคือพบชิ้นส่วนภาชนะดินดิบ ปั้นจากดินสีขาว ซึ่งยังไม่เคยพบ ณ แหล่งเตาโบราณที่ใดมาก่อนในประเทศไทย อันเป็นหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีที่ใช้ให้ทราบถึงกระบวนการและขั้นตอนการผลิตเครื่องถ้วยชามของล้านนาได้เป็นอย่างดี จากการตรวจสอบรูปลักษณะของเตาเผาอินทขิล รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชาม สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในยุคล้านนา คือประมาณ 500 – 600 ปีมาแล้ว
แหล่งเตาเผาอินทขิลถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างมากทั้งทางด้านวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามในอดีตแหล่งใหม่ที่มีความสมบูรณ์ทั้งเตาเผาและตัวอย่างเศษถ้วยชามที่มีมากถึง 4 แห่ง ซึ่งจากการขุดค้นแหล่งเตาเผาในภาคเหนือตอนบนยังไม่พบว่ามีแหล่งเตาเผาแหล่งใดที่มีความสมบูรณ์เช่นนี้มาก่อน
เทศบาลตำบลเมืองแกนพัฒนาได้เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว โดยได้พัฒนาแหล่งโบราณคดีเตาเผาอินทขิล ตลอดจนได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่าง ๆ ภายในเขตเทศบาลพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวอำเภอแม่แตง
แหล่งเตาเผาอินทขิล บ้านสันป่าตอง อ.แม่แตง จึงน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ และมีความเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้อนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นศูนย์การศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเครื่องถ้วยชามโบราณของล้านนา รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี (Archaeological Site Museum) เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจได้แวะเข้าไปเที่ยวชมต่อไป
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น