สร้างแน่ ! อ่างเก็บน้ำ “ธรรมนัส” อ.แม่วาง

สร้างแน่อ่างเก็บน้ำแม่วาง “ธรรมนัส” ลุยแม่วางเป็นอำเภอแรก ย้ำชัดกับ ปชช. ร่วมครึ่งหมื่น
วันที่ 25 ส.ค. 62 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมอำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่อำเภอแม่วาง เพื่อติดตามและตรวจความพร้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ซึ่งได้รับการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจากชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ อ.แม่วาง นำโดย นายอุ่นเรือน คำภิโล นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ จ.เชียงใหม่ ประธานชมรม และชมรม อปท.อ.แม่วาง นำโดย นายชุมพล อิ่มแก้ว ประธานชมรฯ นายก อบต.ทุ่งปี๊ อ.แม่วาง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง บรรยายสรุปโครงการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทานจาก สำนักชลประทานที่ 1 ก่อนที่จะพบปะและแจงนโยบายสำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่วาง ราษฎรในเขต สปก. และเดินทางไปตรวจความพร้อม ณ พื้นที่จุดที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ซึ่
หลังจากพบปะประชาชน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ในขณะนี้การศึกษาได้จบไปแล้ว และวางกรอบงบประมาณในการก่อสร้างให้เร็วที่สุด โดยวางกรอบไว้ประมาณ 500 กว่าล้านในการก่อสร้าง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำตรงนี้เป็นอ่างขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ของกรมอุทยานฯ ประมาณ 2,000 กว่าไร่ หลังจากนี้ก็ต้องขออนุญาตกรมอุทยานฯ ในการขอใช้พื้นที่ โดยกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างในปี 62 การศึกษาจบไปแล้ว ในปี 63 จะเป็นในเรื่องของระบบราชการที่เป็นเรื่องการศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา
“สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในปีนี้ลักษณะคล้ายกับปี 2558 ที่เกิดวิกฤติภัยแล้ง ขณะนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ในเรื่องของการทำฝนหลวง การเจาะน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล การแก้ปัญหาในการเยียวยาให้พี่น้องเกษตรกร ส่วนการแก้ปัญหาระยะที่สองที่เป็นระยะยาว จะเป็นเรื่องของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนต่างๆ ก็ต้องบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานบริหารจัดการน้ำแห่งชาติ ได้ให้นโยบายให้กับข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เร่งรัดแก้ปัญหาโดยด่วน” รมช.เกษตรฯ กล่าว
ต่อคำถามที่ว่า หลายโครงการที่มีปัญหาระหว่ากรมชลประทาน ป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ซึ่งมีปัญหากันมาโดยตลอดจะทำเช่นไร ร.อ.ธรรมนัสฯ กล่าวว่า ในรัฐบาลชุดนี้ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายมาแล้ว ได้ประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของปัญหา ซึ่งเวลานี้ไม่มี ทุกหน่วยพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพราะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนโดยตรง บางโครงการที่เป็นเขตลุ่มน้ำ C และ D แต่ถ้าเป็นลุ่มน้ำ A ก็ต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะมีผลกระทบต่อป่าไม้
ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การมาที่อำเภอแม่วางในวันนี้เป็นครั้งที่สอง ช่วงต้นเดือนเมษายน 2562 ได้เดินทางมารับทราบปัญหา แต่ตอนนั้นมีปัญหามาก เพราะเดือนเมษายน มีน้ำน้อย และพบว่าฝายห้วยผึ้งที่มีอยู่เดิมชำรุด น้ำเข้าไปไม่ถึงที่โรงเรียน โรงพยาบาล เห็นสภาพปัญหาตรงนั้น ก็ได้แจ้งท่านอธิบดีฯ และแจ้งให้ทางกระทรวงเกษตรฯ ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน โดยกรมชลประทานได้โอนเงินมาให้ปรับปรุงฝายห้วยผึ้ง และในวันนี้ก็เดินทางไปตรวจอีกครั้ง พบว่าประมาณเดือน ก.ย. 62 ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จ
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ทางรัฐบาล กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรฯ มีความตั้งใจที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้เกิดขึ้น และจากการเดินทางมาในครั้งแรกนอกจากฝายห้วยผึ้งที่ชำรุดแล้ว ทางด้านอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนออ่างเก็บน้ำแม่วาง อีกแห่งหนึ่ง และจากการศึกษา ดูแผนที่ทั้งหมด ก็พบว่า อ่างเก็บน้ำแม่วางก็สอดคล้องกับที่กรมชลประทานได้ดำเนินการ ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เราควรบริหารจัดการน้ำกันอย่างไร ซึ่งน้ำแม่วางมีการไหลผ่าน 90 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่ในขณะเดียวกันในพื้นที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะเก็บรักษาน้ำไว้ได้เลย แต่มีฝาย 11 แห่งในลุ่มน้ำแม่วาง ซึ่งเป็นตัวผันน้ำเข้าแปลงพื้นที่ของเกษตรกร จะเห็นได้ว่าได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้แต่ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง สามารถจัดเก็บน้ำไว้ได้ 20 ล้าน ลบ.ม. ช่วงฤดูฝนก็สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในช่วงฤดูฝน เมื่อถึงฤดูแล้งก็นำน้ำจำนวนนี้ที่เป็นน้ำต้นทุน ในการผันน้ำให้ฝาย 11 แห่งลุ่มน้ำแม่วาง ถือเป็นระดับต้นน้ำและกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำ ก็ส่งผ่านลำคลองสามารถนำน้ำไปใช้ในจุดอื่นได้
“อ่างเก็บน้ำแม่วาง กรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในการเตรียมความพร้อมต่างๆ ในด้านการศึกษา สำรวจ ออกแบบในด้านวิศวกรรม โดยแบ่งเป็น 2 ด้านคือ ด้านวิศวกรรม ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม วันนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งการศึกษา ความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบเรียบร้อยแล้ว แต่แบบการก่อสร้างได้ทำไว้ตั้งแต่ปี 2555 และลักษณะพื้นที่มีการเปลี่ยนไป ก็ต้องมีการปรับแบบกันอีกครั้งซึ่งทำแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนด้านการใช้พื้นที่กรมชลประทานได้ดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ รัฐ กับประชาชน และเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ต้องมาสร้างความรับรู้ ความเข้าใจร่วมกัน ช่วยกันคิด พิจารณา ตัดสินใจ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมาทำความเข้าใจ หากเข้าใจกันได้ก็มั่นใจว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้” นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน
โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ก่อแนวคิดในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 ราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราษฎรในเขตอำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตองและอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ รวม 7 ตำบล ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้รับความเดือนร้อน กรมชลประทาน โดยฝ่ายวางโครงการ 3 กองวางโครงการ ได้จัดทำรายงานวางโครงการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2528 โดยจะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปิดกั้นลำน้ำแม่วาง ในเขตตำบลบ้านกาด แต่เนื่องจากปัญหาทางด้านสภาพธรณีวิทยาและผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ เป็นผลให้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางไม่ได้รับการพิจารณา
ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 จังหวัดเชียงใหม่โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายธงชัย วงศ์เหรียญทอง ได้เสนอเรื่องการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่วางต่อสำนักชลประทานที่ 1 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมให้กับราษฎรทั้ง 3 อำเภอ ข้างต้น ซึ่ง สำนักชลประทานที่ 1 ได้พิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมา กรมชลประทาน โดย สำนักบริหารโครงการ ได้รับมอบหมายให้ศึกษาและจัดทำรายงานวางโครงการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางที่ได้จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ตั้งโครงการฯ ตั้งอยู่ที่พิกัด 47 QMA 721-585 ตามแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 4746 III L7018 บริเวณหมู่ที่1 บ้านใหม่ปางเติม ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์(โซน C) ชื่อป่าแม่ขานและป่าแม่วาง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,129 ไร่ โครงการฯ มีอาคารหัวงานเป็นเขื่อนดินประกอบด้วยลักษณะงานส่วนสำคัญ ดังนี้ เขื่อนดินแบบ Modified Zone Type ระดับสันเขื่อนดิน +404 ม. (รทก.) ความกว้างสันเขื่อนดิน 10.00 ม. ความยาวสันเขื่อนดิน 850 ม. ส่วนสูงที่สุด 76 ม. ลาดเขื่อนดิน : ด้านเหนือน้ำ 1:3 : ด้านท้ายน้ำ 1:2.5 ส่วนกว้างที่สุดของฐาน 271 ม. ปริมาณดินถมตัวทำเขื่อนดิน 1,500,000 ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน ฤดูฝน 18,000 ไร่ พื้นที่ชลประทาน ฤดูแล้ง 8,000 ไร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น