รู้หรือไม่? ควรทำอย่างไรหากคนใกล้ตัวคุณป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า”

“โรคซึมเศร้า” เป็นภัยร้ายใกล้ตัว ที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้ เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นคนอ่อนแอ หรือล้มเหลวในชีวิตเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยมีสาเหตุ เช่น ความผิดหวัง จากการสูญเสียต่าง ๆ  หรือในบางกรณีก็สามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งการรักษาอาการของ “โรคซึมเศร้า” ในปัจจุบันสามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองแบบร่วมกัน

โดยผู้ป่วย “โรคซึมเศร้า” นั้นจะสามารถสังเกตอาการหลัก ๆ ได้ดังนี้
– มีอาการเศร้า หดหู่ ท้อแท้ ซึม หงอย ทั้งรู้สึกด้วยตนเอง หรือคนอื่นสังเกตเห็น
– มีอาการเบื่อ และไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม
หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น นอนหลับยาก เบื่ออาหาร คิดช้า พูดช้า เดินช้า ทำอะไรช้าลง รู้สึกร่างกายอ่อนเพลียไม่มีแรง หงุดหงิดง่าย หรือแย่สุดคือ รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ จนถึงขั้นอยากทำลายตนเอง และอยากฆ่าตัวตายในที่สุด
โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีการ หรือใช้การรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งอดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต “นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล” บอกถึง วิธีปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในระดับต่าง ๆ ดังนี้
  1. อาการซึมเศร้าเล็กน้อย ควรเน้นการปรับกิจวัตร โดยเฉพาะหากมีอาการเศร้าเรื้อรัง ที่เป็นมานาน มักเกิดจากนิสัยขี้กังวลและการขาดทักษะจัดการอารมณ์และจัดการสถานการณ์ชีวิต ควรฝึกทักษะจัดการปัญหาเชิงรุก ทักษะจัดการอารมณ์ การสื่อสาร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความรู้สึกดีและความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง
  2. อาการซึมเศร้ามีปานกลาง ยาและการปรับกิจวัตรจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะการกินอาหารที่ดีกับสุขภาพ การนอนเพียงพอ การออกกำลังกายให้มากพอ และการทำกิจกรรมผ่อนคลาย และถ้าเป็นไปได้ ควรฝึกการมีสติรู้ทันความคิดนึก ประยุกต์ใช้สติเพื่อการดูแลเรื่องอารมณ์ของตัวเอง ระวังการมองอารมณ์ลบว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธหรืออารมณ์เศร้า เพราะอารมณ์เป็นธรรมดาของชีวิตคนเรา สิ่งสำคัญคืออารมณ์บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในใจเรา
  3. อาการซึมเศร้ามาก ควรเน้นให้กินยาสม่ำเสมอ และให้กำลังใจว่า อาการจะดีขึ้น หากเป็นไปได้ ควรชวนให้ได้เดินออกกำลังกายเบา ๆ ช่วงแสงแดดอ่อน ชวนทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เท่าที่เขาพร้อมจะทำ
  4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย ไม่ควรละเลยโดยเข้าใจเอาเองว่า คนพูดถึงความคิดฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความสนใจ และไม่ลงมือทำจริง เพราะในความเป็นจริง การบอกถึงความคิดฆ่าตัวตาย สะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ที่ทำให้เขาสิ้นหวังกับการมีชีวิต เป็นสัญญาณเตือนให้รีบขอความช่วยเหลือ ควรให้จิตแพทย์หรือคนทำงานด้านสุขภาพจิตได้ช่วยประเมินความเสี่ยงและร่วมกันกำหนดแนวทางช่วยเหลือ
วิธีการที่เราควรปฏิบัติตัวต่อกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้า อันดับแรกคือ การให้กำลังใจ พูดคุยแบบรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ต้องพยายามให้คำตอบว่าควรทำอย่างไร และในกรณีของครอบครัว ควรแสดงออกถึงความรักความห่วงใยผ่านการกระทำ เช่น จัดเวลาทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน ไปกินข้าว ดูหนัง เล่นเกม เล่นกีฬา เป็นต้น

ตัวอย่างคำพูดที่ “ควรพูด” เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
เช่น อยากให้ฉันกอดไหม, เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ, เธอสำคัญสำหรับเสมอนะ, ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ, ฉันอาจไม่เข้าใจ แต่เข้าใจเธอนะ, ฉันรักเธอนะ เป็นต้น
ตัวอย่างคำพูดที่ “ไม่ควรพูด” กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
เช่น ลืม ๆ มันไปซะเถอะ, ไม่อยากรู้สึกแบบนี้ ก็เลิกคิดสิ, ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็ผ่านไป, จะเศร้าไปถึงไหนกัน, เข้าใจว่ารู้สึกอย่างไร ฉันก็เคยเป็น, เลิกเศร้าได้แล้ว เป็นต้น
หรือหากอยากช่วยเหลือผู้ป่วยจริง ๆ แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็อาจจะชวนเขาออกมาทำกิจกรรมอะไรสร้างสรรค์ ๆ เพื่อให้ชีวิตได้ผ่อนคลายจากความรู้สึกโดดเดี่ยวลงบ้าง เช่นการออกกำลังกาย เพราะ เมื่อสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็จะดีตาม การสนับสนุนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เช่น การวิ่งในโครงการต่าง ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ หรือที่หลาย ๆ คนอาจเรียกว่า “งานวิ่ง”
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า หรือคิดว่าตนเองป่วยซึมเศร้า เข้าไปปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์ ใกล้บ้าน แต่หากใครไม่สะดวกสามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตได้โดยโทร 1323 หรือ 1667 ซึ่งบริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

 


อ้างอิงข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ร่วมแสดงความคิดเห็น