เรือน “สะระไน” คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์ลำพูน

สะระไน ในเรือนของล้านนาดูเหมือนว่าจะอยู่คู่กันมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะในอาคารคุ้มหลวงแทบทุกหลังจะประดับสะระไนไว้ตามมุมหลังคา อันเป็นเอกลักษณ์ของเรือนโบราณบ้านล้านนามาจนถึงปัจจุบันความสำคัญของสะระไน เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 150 ปีที่ผ่านมาอิทธิพลของชาติตะวันตกที่รุกแผ่ขยายเข้ามาในดินแดนล้านนา ทำให้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในล้านนามากมาย การเปิดป่าให้ชาวอังกฤษเข้ามาสัมปทานทำไม้ในภาคเหนือสมัยนั้น ทำให้ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาทำไม้ในเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองเชียงใหม่รับเอาอิทธิพลของชาวตะวันตกก็ว่าได้ ขณะเดียวกันในช่วงนั้นเองก็มีการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองต่าง ๆ เช่น พม่า อินเดีย จีน อินโดนีเซีย จึงทำให้อิทธิพลของชาติดังกล่าวไหลเทเข้าสู่เชียงใหม่อย่างหลีกเลี่ยง
ไม่ได้
รูปแบบของอาคารบ้านเรือนในสมัยนั้น จึงเป็นรูปทรงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตกเสียส่วนใหญ่ เช่น เรือนปั้นหยา ซึ่งเป็นเรือนไม้แบบตะวันตกหลังคาแบบปิรามิด มุงทุกด้านชนกันไม่มีหน้าจั่ว ขณะเดียวกันเรือนเครื่องไม้ยกพื้นมีใต้ถุนสูงที่พัฒนาตามแบบ
สถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้นต่างถิ่น (Tropical Architecture) ได้แก่ เรือนไทยที่มาจากภาคกลาง เรือนมนิลาจากฟิลิปปินส์ เรือนขนมปังขิงและเรือนสะระไนจากอังกฤษ ก็ได้เข้ามาแพร่หลายอยู่ในช่วงนั้นด้วย
กล่าวเฉพาะเรือนสะระไน ซึ่งพบได้มากที่สุดในลำพูน จนคนท้องถิ่นด้วยกันเองเข้าใจว่าเป็นรูปทรงเฉพาะของอาคารในลำพูนนั้น แท้จริงแล้วเรือนสะระไน เป็นเรือนสากลที่มาจากภาคกลาง เข้าสู่สยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 เรือนสะระไนจะฮิตที่สุดในลำพูน ไม่เกิน 150 ปีมานี่เอง โดยได้รับอิทธิพลมาจากกระท่อมแบบอังกฤษ (English Cottage) เรือนสะระไนจะสังเกตง่ายนิดเดียว ตัวเรือนอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จุดเด่นอยู่ตรงหลังคาซึ่งเป็นแบบหน้าจั่ว มีแท่งไม้สี่เหลี่ยมหรือทรงกลมประดับอยู่ตรงส่วนยอดของจั่ว
จากลักษณะของสะระไน ที่เป็นแท่งยาวนี่เอง ทำให้ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราช์ญชาวล้านนา สันนิษฐานว่า คำว่า “สะระไน” น่าจะมาจากคำว่า “สุระหนี่” ซึ่งเป็นปี่ของชวามีลักษณะรูปทรงเป็นแท่งยาว อย่างไรก็ตามอาจารย์มณี ก็ไม่ได้บอกว่าสะระไนเข้ามาแพร่หลายอยู่ในล้านนาได้อย่างไร เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเปรียบเทียบในเชิงภาษาศาสตร์เท่านั้นในรายงานของอาจารย์วิฑูรย์ เหลียวรุ่งเรือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ศึกษารูปแบบของอาคารบ้านเรือนสมัยโบราณ กล่าวถึงเรือนสะระไนที่พบในลำพูนว่า เรือนสะระไน คือเรือนที่ได้พัฒนาและคลี่คลายจากระบบระเบียงการก่อสร้างแบบเดิม เป็นเรือนเครื่องไม้แต่มีการยกพื้นน้อยกว่าเดิมเหลือประมาณ 1 – 1.5 เมตร ชานและเติ๋นอาจมีฝาไม้ระแนงตีไขว้กันไว้โดยรอบ เรือนมีความมิดชิดมีขนาดเล็กกะทัดรัด รูปทรงของหลังคาอาจเปลี่ยนแปลงไปหลายรูปแบบ เช่น เรือนจั่วเดี่ยวหรือแฝด เรือนจั่วมนิลา ส่วนยอดและมุมหลังคาจะตกแต่งด้วยไม้กลึงสะระไน มุมหลังคาด้วยวัสดุพื้นเมือง
เรือนสะระไนที่พบในลำพูน ได้แก่ บ้านเจ้าหญิงเรือนแก้ว ณ ลำพูน บนถนนรถแก้ว สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2468 เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมนิลา ตกแต่งยอดมุมหลังคาไม้กลึงสะระไน บ้านเจ้าหญิงยอดเรือน ณ ลำพูน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2477 เป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูงเช่นกัน หลังคาทรงจั่วมนิลา ส่วนยอดและมุมตกแต่งด้วยสะระไน บ้านเจ้าหญิงยอดเรือนนี้เป็นบ้านทรงพื้นเมืองขนาดใหญ่ มีชานและเติ๋น นอกจากนั้นยังมีเรือนสะระไน บนถนนท่านาง เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงปัจจุบันเป็นบ้านร้าง และเรือนสะระไนบนถนนสันป่ายาง อีกหลายหลัง
ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 70 – 80 ปีที่พบเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2455 ในสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 (พ.ศ.2454 – 2486) ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 6 ตัวอาคารเป็นเรือนสะระไน ขนาดใหญ่ 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนชั้นบนเป็นไม้ หลังคาจั่วผสมปั้นหยา เป็นเรือนพักอาศัยของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ กับเจ้าหญิงส่องหล้าสัมพันธวงศ์ และบุตรธิดา จนกระทั่งสยามสถาปนิคสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้ประกาศให้คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์เป็นอาคารอนุรักษ์

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น