วิกฤต ร้อน-แล้ง ปี 62! กระทบ เกษตรกร น้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร ผลผลิตเสียหาย ต้องซื้อน้ำทำการเกษตร ทำต้นทุนสูง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 37.08 ภาคกลาง ร้อยละ 11.79 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.59 และภาคใต้ ร้อยละ 4.54) จำนวนทั้งสิ้น 925 ราย ระหว่างวันที่ 16 – 23 สิงหาคม 2562 ในหัวข้อ “สถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตร..เกษตรกรไทยกับวิกฤติ ร้อน-แล้ง” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ
ความคิดเห็นของเกษตรกรต่อสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตร ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.19 บอกว่าปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่มีปริมาณลดลงกว่าปีที่ผ่านมา รองลงมาร้อยละ 4.22
มีปริมาณเท่าเดิม ร้อยละ 1.73 ไม่ทราบเกี่ยวกับปริมาณน้ำ มีเพียงร้อยละ 0.86 ที่บอกว่าปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
เมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำทางการเกษตร พบว่า ร้อยละ 98.38 ได้รับผลกระทบน้ำไม่เพียงพอ โดย อันดับ 1 บอกว่าปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำให้ต้องลดพื้นที่ทำการเกษตรลง (ร้อยละ 71.24)
อันดับ 2 ผลผลิตได้รับความเสียหาย ได้แก่ ข้าวแห้งตาย ข้าวไม่งอก เป็นต้น
(ร้อยละ 63.03)
อันดับ 3 ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการซื้อและสูบน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ (ร้อยละ 61.95)
อันดับ 4 ต้องเลื่อนระยะเวลาการผลิตทางการเกษตรออกไป (ร้อยละ 46.70)
อันดับ 5 ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ได้แก่ ปริมาณผลผลิตลดลงและขนาดผล เล็กลง (ร้อยละ 37.62) มีเพียงร้อยละ 1.62 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอยู่ติดกับแหล่งน้ำหรืออยู่ในเขตชลประทานที่มีน้ำเพียงพอ สำหรับการเตรียมการหรือปรับตัวต่อการแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการการเกษตร ได้แก่
อันดับ 1 หันไปประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น รับจ้างทั่วไป ค้าขาย (ร้อยละ 58.81) อันดับ 2 มีการขุดบ่อน้ำหรือเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่การเกษตรของตนเอง (ร้อยละ 46.49) อันดับ 3 ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชอายุสั้นแทน (ร้อยละ 41.62)
อันดับ 4 คือ ทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง (ร้อยละ 33.49) อันดับ 5 คือ ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการประหยัดน้ำ เช่น ระบบน้ำหยด (ร้อยละ 15.14)
แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน และมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้มีฝนตกมากขึ้น
ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงช่วยทุเลาปัญหาสถานการณ์แล้งในบางพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากยังพบว่าปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศยังคงมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่งระยะยาวทั้งภาครัฐและเกษตรกรเองจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนและวางแผนการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปริมาณน้ำ รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น