เมื่อ “การท่องเที่ยวชุมชน” ถูกครอบงำจากภาครัฐ

ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าถูกพูดถึงและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมซึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวอาจจะแตกต่างกับการท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่มคณะ ซึ่งที่เรามักเรียกว่า “กรุ๊ปทัวร์” เป็นไหน ๆ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มชน ชนิดที่เรียกว่า เจ้าของบ้านทำอะไร นักท่องเที่ยวก็ทำอย่างนั้น เจ้าของบ้านนอนไหน นักท่องเที่ยวก็นอนที่นั่น เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเลยทีเดียวกระทั่งในระยะหลังหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐได้พยายามเข้าไปสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในหมู่บ้านตามชนบท โดยจะเน้นวิถีการดำรงชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชาวบ้านโดยที่นักท่องเที่ยวจะต้องนอบน้อมคารวะเสมอเหมือนผู้มาเยือนคนหนึ่งเท่านั้น จะต้องไม่มีส่วนของการเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านเหมือนกับที่มีหน่วยงานหลายหน่วยกำลังวิตกว่า การที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวมาก ๆ จะกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้าน กลัวว่าชาวบ้านจะทิ้งวิถีชีวิตดั่งเดิมหันมาหลงไหลความเจริญกันหมด
ขณะเดียวกันหากย้อนคิดว่ามีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากนั่งรถบัสปรับอากาศเย็นฉ่ำ เข้าไปจอดในวัดแล้วนักท่องเที่ยวต่างชาตินุ่งกางเกงขาสั่นเดินเข้าวัด คงเป็นภาพที่ไม่สวยงามแน่ ขณะที่วัดก็มีวิธีการป้องกันโดยให้นักท่องเที่ยวที่นุ่งสั้นเปลี่ยนมาใส่ผ้าถุงที่เตรียมไว้ เพื่อความเป็นระเบียบและไม่อุจาดตาแก่พระสงฆ์ที่อยู่ในวัด หากจะถามว่าวัดมีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ก็เปล่าเลยโบราณสถานต่าง ๆ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ทว่าโบราณสถานกับวิถีวัฒนธรรมประเพณีของชาวบ้านแตกต่างกันก็ตรงที่โบราณสถานเป็นวัตถุไม่มีชีวิตขณะที่วิถีวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิตที่มักเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อมีอะไรมากระทบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อหลายฝ่ายมองว่า หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องเร่งคิดหาทางแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินแก้รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้มุมมองต่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันว่า ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤติย์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา รัฐจะเป็นฝ่ายครอบงำชาวบ้านด้วยการพยายามเข้าไปจัดการกับชาวบ้านเข้าไปจัดการกับทรัพยากรทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะจัดการกับฐานทรัพยากรของตน ขณะที่การท่องเที่ยวในชนบทปัจจุบันมักจะพูดถึงเรื่องท้องถิ่นและชุมชนเพียงผ่าน ๆ พูดถึงกันเพียงเฉพาะตำบล อำเภอ แต่ไม่เห็นภาพของท้องถิ่นที่เป็นชุมชนเป็นหมู่บ้าน ซึ่งคนเหล่านี้ต่างหากที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างชุมชนเข้มแข็ง อย่างเช่นการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชาวบ้านแม่กลางหลวง บนดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านจะเข้ามาจัดการและกำหนดวิธีการเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านของเขา นักท่องเที่ยวจากข้างนอกจะต้องปฏิบัติตามกฏของชุมชน ไม่ใช่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชุมชน อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบยั่งยืนโดยชุมชมมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบของการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชุมชนนอกจากจะนำรายได้เข้ามาสู่คนในชุมชน รวมถึงชุมชนได้มีส่วนของการจัดการและวางรากฐานในการท่องเที่ยวแล้ว ข้อดีอีกประการหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชมก็คือ พิธีกรรม ป่าไม้และทรัพยากรต่าง ๆ จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนในชุมชนกับคนภายนอกในการที่จะมีอำนาจในการต่อรองได้ เพราะฉะนั้นกระบวนการใช้การจัดการท่องเที่ยว เพื่อจุดประกายสำนึกรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อม นำไปสู่กระบวนการอนุรักษ์รักษาร่วมกันของคนในชุมชน ประการสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ชุมชนเกิดความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่และรู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากการจัดการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างแท้จริงโดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยเฉพาะการปราศจากการครอบงำจากหน่วยงานของรัฐ จึงนับเป็นเรื่องยากและท้าทายอย่างยิ่ง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น