“กว่าง” แมลงนักสู้ของคนล้านนา

การชนกว่างถือเป็นประเพณีการละเล่นพื้นบ้านของคนในภาคเหนือ วงจรชีวิตของป่าจะเกี่ยวพันกับความสมบูรณ์ของป่าไม้ เมื่อป่ามีมากกว่างก็จะสามารถหาอาหารได้ง่าย แต่ปัจจุบันทั้งป่าไม้ ทั้งกว่างกำลังอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลน ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จำนวนของกว่างลดลงเพราะถูกสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่มนุษย์ใส่ลงไปในดิน น่าเป็นห่วงอนาคตของป่า ถ้าหากไม่มีป่ากว่างก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงประเพณีการชนกว่างของคนล้านนาอาจจะเหลือเพียงแค่ตำนานที่เล่าขานกันมาเท่านั้น กว่างเป็นแมลงจำพวกด้วงปีกแข็ง อยู่ในวงศ์ Scarabaeidae มี 6 ขา ตัวผู้จะมีเขาข้างหน้าไว้เพื่อต่อสู้ ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลเข้ม สีแดงคล้ำ บางตัวอาจมีสีดำสนิท กว่างมีอยู่หลายชนิดตัวที่มีห้าเขาเรียก กว่างซาง ตัวที่มีสามเขาเรียก กว่างก่อ แต่ที่นิยมนำมาชนกันมีสองเขาเรียก กว่างคาม
กว่างคามตัวโตเต็มวัยมีขนาดประมาณ 5-6 ซม. ตัวผู้มีสองเขาส่วนตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้แต่ไม่มีเขา กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี เริ่มจากไข่ฟักเป็นตัวหนอนอยู่ในดินกินซากพืชและรากไม้เป็นอาหาร จากนั้นเป็นดักแด้แล้วลอกคราบเป็นแมลงกว่างขึ้นจากดินบินหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ อาหารของกว่างได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่ซาง เปลือกไม้ของต้นคาม ส่วนอาหารยอดนิยมที่คนนำมาเลี้ยงกว่างได้แก่ อ้อย กล้วย แตงไทย ประเภทของกว่างที่พบในภาคเหนือ กว่างแม่ เป็นกว่างตัวเมียไม่มีเขา ตัวสีน้ำตาลยาวประมาณ 1 นิ้ว มีชื่อเรียกที่ต่างกันเช่น กว่างอีมุ้ม,แม่อีหลุ้ม,แม่บังออน เป็นต้นกว่างกิ เป็นกว่างตัวผู้มีเขาสั้นตัวเล็กสีน้ำตาล
กว่างกิดง เป็นกว่างตัวผู้มีเขาสั้นตัวโตสีน้ำตาล
กว่างแซม เป็นกว่างตัวผู้มีเขายาว ตัวเล็กสีน้ำตาล ไม่นิยมนำมาทำเป็นกว่างชน เพราะไม่ค่อยมีความอดทน
กว่างฮัก เป็นกว่างตัวผู้ขนาดเล็ก มีเขายาวตัวสีดำที่เรียกว่า ฮัก เพราะมีสีเหมือนรัก
กว่างโซ้ง เป็นกว่างตัวผู้มีรูปร่างได้สัดส่วนสวยงาม ตัวใหญ่มีเขาโง้มยาว นิสัยอดทนดุดัน นิยมนำมาใช้ชนกัน
กว่างห้าเขา เป็นกว่างที่มีรูปร่างใหญ่โต มีเขา 3 หรือ 5 เขา เป็นกว่างที่หายากราคาแพง ไม่นิยมนำมาชนการชนกว่างได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยมนต์เสน่ห์และสีสันของนักต่อสู้จากขุนเขาชื่อเสียงของแมลงกว่างจึงขจรขจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงขนาดลงทุนเดินทางมาตระเวนซื้อกว่างฝีมือดี จนเกิดกระแสการขาดแคลนกว่างชนมาแล้วครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งองค์กรกว่างประเทศไทยขึ้นเพื่อจัดแข่งขันการชนกว่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับโลก ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่สนใจชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความสนใจกับกีฬาพื้นบ้านภาคเหนือของเราด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น