ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” ของล้านนา

การทำบุญประเพณีตานก๋วยสลากนั้น จะจัดขึ้นระหว่างช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาและชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ว่างเว้นจากการทำงาน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการเตรียมงานตานก๋วยสลากจะมีอยู่ 2 วันคือ “วันแต่งดา” หรือ “วันห้างดา” และวันถวายเครื่องไทยทาน หรือ “วันตาน” วันแต่งดา คือวันที่มีการเตรียมอาหารคาวหวานผลไม้ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่จะนำใส่ลงในก๋วยสลาก บางครอบครัวต้องทำขนมและกับข้าวเองเพื่อแบ่งใส่ก๋วยสลาก หากหมู่บ้านไหนที่จัดงานกินสลากไปแล้วก่อนหมู่บ้านอื่นก็จะมาร่วมทำบุญ อาจจะอยู่ในรูปของปัจจัย หรือ การนำของมาสมทบ คนเมืองล้านนาเรียกว่า “ฮอมสลาก” ภายในก๋วยสลากจะมีเครื่องอาหารคาวหวาน ผลไม้รวมไปถึงเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับพระภิกษุ สามเณร เช่นสมุด ดินสอ แป้ง สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น
ก๋วยสลากที่นำมาใส่ของในสมัยก่อนจะทำเป็นชะลอมสานด้วยไม้ไผ่มีการนำใบตองมารองรอบๆก๋วยเพื่อกันไม่ให้ของหล่นหาย เมื่อใส่ของใช้แล้วก็จะมัดปากก๋วยด้วยเชือกหรือตอก นำไม้ไผ่เหลาหรือขุดให้เป็นฝอยอ่อนๆอยู่ตรงปลาย ไม้ยาวประมาณ 1 ฟุตผ่าครึ่งซีกตรงปลายเล็กน้อยประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อสามารถเสียบยอดปัจจัยได้ ไม้นี้จะนำมาปักไว้ที่ปลายของก๋วยสลาก ปัจจุบันภาชนะใส่ของถวายทานได้เปลี่ยนจากชะลอมไม้ไผ่มาเป็นตะกร้าหรือถังน้ำพลาสติกไปแล้ว แม้จะนำความสะดวกสบายมาให้แต่ดูเหมือนจะเป็นการลดคุณค่า ประเพณีดั่งเดิมที่เก่าแก่ลงอย่างสิ้นเชิง เพราะมองดูแล้วคล้ายกับการถวายสังฆทานหรือการถวายของธรรมดามากกว่า แต่เอกลักษณ์ที่เป็นชะลอม (ก๋วยสลาก) ที่บรรพบุรุษเคยทำมาช้านานนั้นได้เลือนหายไปแทบจะหมดสิ้น
ต่อมาพัฒนาการขึ้นเป็น “สลากโชค” นำอาหารพร้อมข้าวตอกดอกไม้ใส่ใน “สวย” หรือ “กระสวย” นำเงินเหรียญหรือธนบัตรใส่ไปด้วย รวมแล้วเป็นครัวทานหรือเครื่องไทยทานใส่ใน “น้ำคุ” หรือภาชนะที่ใส่น้ำหิ้วหรือกะละมัง เครื่องไทยทานครบเครื่องเรียกว่า “สลากโชค” สลากโชคที่เป็นมหาโชคครบเครื่องยิ่งกว่าจะมีเป็นบ้านเป็นหลัง ใหญ่เล็กตามอัตภาพของผู้จะนำไปทานในงานก๋วยสลากหรือบางทีเป็นเรือนหรือเรียกว่า “สำเภาเงิน สำเภาทอง” อย่างนี้เป็นมหาโชคสำหรับพระเณรทีเดียวที่จะได้รับ เพราะมีทั้งเสื้อเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หม้อข้าวหม้อแกง ที่ญาติโยมพี่น้องที่จะทานอุทิศไปให้คนตายที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้อยู่ดีกินดีในสัมปรายภพ สำหรับบ้านเป็นหลัง สำเภาเงินสำเภาทองที่จะนำมาอุทิศให้คนตายในวันตานก๋วยสลากนั้น ศรัทธาญาติโยมจะช่วยกันทำที่บ้านมาอย่างประณีตบรรจง สวยงาม เพื่อมิให้น้อยกว่าญาติโยมบ้านอื่นชนิดแข่งขันบุญบารมีกันในการทำบุญทีเดียว
วันตานก๋วย จะเป็นวันที่ถวายเครื่องไทยทาน ทางวัดจะประกาศแต่เช้าตรู่เพื่อบอกให้ชาวบ้านที่นำก๋วยสลากมาวางให้ถูกต้องตามหมายเลขหมวดหมู่ของตน ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและง่ายต่อการตามหาเมื่อเวลาจับสลากได้ ในวันงานชาวบ้านจะแต่งกายอย่างสวยสดงดงามเป็นพิเศษ เพราะถือว่าในปีหนึ่งจะมีงานบุญตานก๋วยสลากแค่ครั้งเดียว แต่บางหมู่บ้านก็จะจัด 2 ถึง 3 ปีต่อครั้ง บางหมู่บ้านก็ไม่มีเลย ในมือของแต่ละคนต่างอุ้มก๋วยสลาก มุ่งหน้าไปวัดกันอย่างไม่ขาดสาย คนหนึ่งอาจจะมีก๋วยสลากมากกว่า 1 อันก็ได้ บางคนก็จะทานสลากไปหาญาติพี่น้องหรือบิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนอาจจะทานไปหาเจ้ากรรมนายเวรและทานไว้ภายหน้า
ในก๋วยสลากแต่ละใบจะมีเส้นสลากที่ผู้ทานจะเขียนชื่อที่อยู่และบอกด้วยว่าทานไปหาใคร เมื่อเวลาที่นำก๋วยสลากนี้ไปถึงวัดแล้วก็จะนำเส้นสลากออกจากก๋วยและนำไปกองรวมไว้ในวิหารหลวงเพื่อทำการจับสลาก หลังจากที่พระสงฆ์ให้ศีลให้พรในโบสถ์เสร็จสิ้นลง บรรดาพุทธศาสนิกชนต่างก็พากันมาที่ก๋วยสลากของตน จากนั้นคณะกรรมการของวัดจะนำเส้นสลากที่ม้วนเป็นกระดาษมาทำการจับสลาก ในสมัยก่อนเส้นสลากนี้จะใช้ใบลานทำเมื่อเส้นสลากของคนไหนถูกจับขึ้นมาพระสงฆ์ที่จับได้ก็จะเดินไปหาก๋วยสลากนั้น ซึ่งเขียนชื่อบอกไว้ในเส้นสลาก จะเห็นว่าก๋วยสลากที่ไม่มีพระจับได้ก็จะนำไปทานไว้กับวัดของตน ศรัทธาของชาวบ้านที่ได้กระทำต่อพุทธศาสนาจึงเปรียบเสมือนสิ่งเกื้อกูลและที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เพราะว่าในปีหนึ่งก็จะมีงานนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น กว่าจะถึงงานนี้อีกทีก็ต้องรอถึงปีหน้า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่จะเห็นชาวบ้านเดินทางมาร่วมพิธีนี้อย่างมากมาย.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น