ไป”เที่ยวอมก๋อย” ไม่คอยแล้วนะ ที่นี่สอยสุขได้ทุกฤดูกาล

“อมก๋อย” เป็น 1 ใน 25 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่กว่า 2,093 ตร.กม. มากเป็นอันดับ 2 รองจาก อ.แม่แจ่ม มีความหนาแน่นของประชากรน้อย เป็นอันดับ 2 รอง จาก อ.กัลยาณิวัฒนา ในสายตาผู้คนทั่วไทย รู้จัก”อมก๋อย” จากภาพเส้นทางทุรกันดาร ช่วงฤดูฝน คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่สังคมไทยตั้งคำถามมาตลอดว่า แบบนี้ยังมีอยู่อีกหรือในประเทศ พอๆกับราคาที่ดินต่ำสุด ตร.ว.ละ 10 บาท ช่วงหนาว ราวเหมันต์ฤดูแห่งสวรรค์ พอฝนผ่าน บทอวตารคิมหันตฤดูร้อนสีสันบางหลืบดอยก็ปะทุ
แต่คนเดินทาง นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่มาเยือนรับรู้ถึงมิตรภาพ ความรวยล้นน้ำใจของชาวอมก๋อย กลิ่นอายธรรมชาติอันพิสุทธิ์รายรอบตัว ทำให้..”ที่นี่…. สุขล้นใจ.. ในทุกฤดูกาล”
เป็นจุดหมาย ปลายทางเลือก เพื่อการมาพักผ่อน อย่างสุขสงบ โอบล้อม ท่ามกลางขุนเขาและวิถีถิ่น
อมก๋อย มาจากคำว่า อำกอย เป็นภาษาลัวะ (ละว้า) แปลว่า ขุนน้ำหรือต้นน้ำ อนุมานว่าสื่อถึง ต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลผ่านชุมชนโบราณแห่งนี้ที่ตั้งอำเภอในปัจจุบัน เดิมเป็นหมู่บ้านชาวลัวะ มี “ขุนแสนทอง” เป็นผู้นำหมู่บ้าน แต่เมื่อคนเมือง ทั่วสารทิศอพยพเข้ามา ทำให้ชาวลัวะดั้งเดิม ย้ายกระจายไปอยู่ตามเชิงดอย ป่าเขา จนต้องจัดตั้งเป็นตำบลในเขตปกครอง อ.ฮอด และยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ พ.ศ.2463 เป็นอำเภอเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2501
ตำนานพื้นถิ่น บอกเล่าถึง”เมืองตื๋นนันทบุรี” ว่าพระยาช้างเผือก และพระยาเลิก 2 พี่น้องได้พาราษฎรที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่ มาสร้างเมืองตั๋นบุรี ในปี พ.ศ.1985 (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ต.แม่ตื่น) มีอาณาเขตถึงบ้านฟ้อนฟ้า, นาหง ,สะหรง ,แม่ระมาด, หินลวด ,นาไฮ ,หนอแสง, ดินแดง ,บ้านป๊อก ,บ้านหมาก, ผาสาด และบ้านวังคำต่อมาพระอทิตตรา ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์วัดจอมแจ้งขึ้น ที่ดอยนางนอน พ.ศ. 2148 และพระยาอนันตราช เจ้าเมืองตั๋นบรรจุพระบรมธาตุเจดีย์ ปี พ.ศ.2299 มีประเพณีไหว้สาพระธาตุเดือน 9 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ สืบทอดมาจนถึงวันนี้
ด้วยภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงลดหลั่นกันไป ทิวดอยสูงราวๆ 80% จะอยู่ในเขต ต.อมก๋อย ,ยางเปียง ,สบโขง,นาเกียน, ม่อนจอง,และแม่ตื่น ทำให้อากาศค่อนข้างเย็นสบายทั้งปี ช่วงนี้ก็เริ่มเย็นเป็นระลอกๆแล้ว
ทิศเหนือติดกับ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ทิศตะวันออก ติดกับ อ.ดอยเต่า และ อ.สามเงา จ.ตาก ทิศใต้ ติด อ.แม่ระมาด จ.ตาก ทิศตะวันตก ติด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนเป็นอำเภอทางใต้สุดของเชียงใหม่ ห่างตัวจังหวัดราวๆ 179 กม.การเดินทางปกติ จะมีหลายเส้นทาง อาทิ ทล. 108 (สายฮอด – บ้านกิ่วลม) ทล. 1099 (กิ่วลม – อมก๋อย – แม่ตื่น) สายทาง ชม. 5052 (อมก๋อย – แม่หลองน้อย) ทางหลวงชนบท ชม. 5101 (สายบ้านโป่ง – แม่ลานน้อย)
มีรถโดยสารประจำทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ มายังอมก๋อย วันละ 2 เที่ยว(07.50 น.และ 13.30 น. ขึ้นรถที่สถานีขนส่งช้างเผือก หรือมาที่สถานีประตูเชียงใหม่ 08.10 น.ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชม. เที่ยวบ่าย 2 โมงจะถึงค่ำๆ ตามสภาพฤดูกาลและผู้โดยสาร
หากรถตู้ จะมีสายอมก๋อย-แม่ตื่น-เชียงใหม่ คิวรถหน้าศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เที่ยวแรก ออกตี 5 ควรจองล่วงหน้า ส่วนรถสองแถวนั้น มีสายอมก๋อย-ฮอด แล้วไปต่อ ฮอด-อมก๋อย คิวแรกเริ่ม 7 โมงเช้า มี 3-4 คิว ออกทุกๆ 2 ชั่วโมงต่อรอบคิว ถ้าต้องการ สัมผัสการเดินทางแบบส่วนตัวไปเรื่อยๆตามอำเภอใจ อาจเลือก เช่ารถ เหมารถตามสะดวกสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ใน อ.อมก๋อย ไม่ได้มีเพียง ดอยม่อนจอง ต.ม่อนจอง สัมผัสความงามของธรรมชาติบนยอดดอยหัวสิงห์ ชมกุหลาบพันปี ดูทัศนียภาพมุมสูงของอมก๋อย ชมยอดดอย 360 องศา อากาศหนาวเย็นสบายเท่านั้น
ที่นี่ยังมี เทศกาลกรีนซีชั่น ข้าวเขียวขจี แถวๆ วัดแสนทอง มากมายด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลากแบบที่ดอยมูเซอ หมู่ 5 ต.ม่อนจอง น้ำตกแม่ตื่นน้อย , นางนอน,ห้วยตาด ,วังควายเผือก,โป่งดิน สัมผัสวิถีชุมชน การใช้ช้างไถนาซึ่งจัดงานยิ่งใหญ่ทุกๆปี(ช่วงพฤษภาคม ) เป็นอีกหนึ่งเทศกาลท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ ต.นาเกียน อ.อมก๋อยยิ่งถ้าโครงการปรับปรุงถนนวงแหวน ที่เชื่อมระหว่าง ต.อมก๋อย ต.นาเกียน ต.สบโขง ต.ยางเปียง ระยะ ทาง 105 กม.ตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ลงมือสร้างในปีนี้แล้วเสร็จ บางที”วงแหวนอมก๋อย “อาจเป็นวงแหวนแห่งไฟในชีวิต ที่ปลุกพลังให้สัญจรตะลอนๆไปเที่ยวอมก๋อย เพื่อสอยสุขในทุกฤดูกาลก็ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น