จ.แพร่ ปลูกป่า ตามโครงการแพร่เมืองไม้ และป่างาม เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของวัด และชุมชน

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 10 กันยายน 2562 อ.สูงเม่น จ.แพร่ ได้จัดกิจกรรมปลูกป่า ตามโครงการแพร่เมืองไม้และป่างาม ปีงบประมาณ 2562 ณ บริเวณวัดทุ่งเจริญ หมู่ที่ 4 ต.สูงเม่น โดยมี นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผวจ.แพร่ เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรม นายพยุงศักดิ์ พลลุน นอภ.สูงเม่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.หัวฝาย สหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์ไม้ น้ำชำ-หัวฝาย และประชาชนในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายธีระ เงินวิลัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.แพร่ กล่าวรายงานว่า ด้วย จ.แพร่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ริเริ่มให้มีโครงการแพร่เมืองไม้และป่างาม ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีแนวคิดที่จะให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าไม้ หันมาปลูกต้นไม้ที่ตนนำมาประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ของ จ.แพร่ ที่ไม่เพียงนำไม้มาใช้ประโยชน์ แต่เพียงอย่างเดียว ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกป่าเพิ่มเติม และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการสร้างจุดขาย ให้กับสถานประกอบการที่มีความใส่ใจ ด้านสิ่งแวดล้อมและทำกิจกรรม เพื่อสังคมอีกด้วย
โดยในปีแรก ๆ จะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการสมัครใจ เข้าร่วมโครงการ เพื่อปลูกและบำรุงรักษาให้เป็นแปลงปลูกป่านำร่อง ของผู้ประกอบการไม้ และจะมีการขยายผลให้ผู้ประกอบการทุกแห่ง ของ จ.แพร่ มีแปลงปลูกป่าของตนเองต่อไป ซึ่งมี นายโชคดี อมรวัฒน์ รอง ผวจ.แพร่ เป็นที่ปรึกษาโครงการ
ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ รวม 3 สหกรณ์ 1 วิสาหกิจชุมชน 1 กลุ่มผู้ประกอบการ พื้นที่ปลูกรวม 60 ไร่ ได้แก่สหกรณ์พัฒนาเวียงทอง พื้นที่ปลูก 20 ไร่ สหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์ไม้ น้ำชำ – หัวฝาย พื้นที่ปลูก 20 ไร่ สหกรณ์ไม้ดอนมูล พื้นที่ปลูก 10 ไร่ วิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง พื้นที่ปลูก 5 ไร่ กลุ่มผู้ประกอบการ อ.เด่นชัย พื้นที่ปลูก 5 ไร่
ซึ่งสหกรณ์บริการผลิตภัณฑ์ไม้ น้ำชำ-หัวฝาย ได้พื้นที่ปลูกป่าแล้ว ได้แก่ พื้นที่บริเวณวัดทุ่งเจริญ หมู่ที่ 4 ต.หัวฝาย อ.สูงเม่น เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ กลุ่มผู้ประกอบการจึงได้พร้อมใจกันสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดให้มีกิจกรรมปลูกป่าในวันนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ ที่ใช้จัดกิจกรรมของวัดและชุมชน รวมทั้งใช้เป็นสนามฟุตบอล สำหรับเยาวชนได้ออกกำลังกายต่อไปนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผวจ.แพร่ กล่าวว่า จากลักษณะทางกายภาพ ทั้งดิน น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ ทำให้เมืองแพร่มีไม้สัก ดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะตามลำน้ำที่พบมีอยู่แถบทุกสาย จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในเมืองแพร่หลายบริษัท บริษัทที่ได้รับสัมปทานมากที่สุดในเมืองแพร่ คือ บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ของอังกฤษ ซึ่งได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก คือ ป่าไม้ด้านทิศตะวันตกของฝั่งเเม่น้ำยม นับตั้งแต่ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จนถึงป่าแม่ต้า ในเขต อ.ลอง
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีสต์ เอเชียติค ของเดนมาร์ก ที่ได้รับสัมปทานทำไม้ขอนสัก ตลอดฝั่งแม่น้ำยมตะวันออก โดยมีการนำไม้ออกอย่างมากมาย ถึงขนาดทำทางรถไฟเข้าไป ทำการชักลาก มีกำหนดอายุสัญญาตั้งแต่ปี 2451-2498 จำนวนไม้ที่ทำออกได้ในปีหนึ่ง มีปริมาณกว่า 6,000 ลบ.ม. บริษัทอีสต์ เอเชียติค มีที่ทำการอยู่ที่บ้านสันกลาง ต.ในเวียง ปัจจุบันได้กลายเป็นโรงเรียนป่าไม้แพร่ (เดิม)
เมื่อสิ้นยุคสัมปทานป่าไม้ของบริษัทอีสต์ เอเชียติค และบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ก็ยังมีไม้บางส่วนที่ตัดล้มแล้วแต่ยังไม่ได้ชักลากออกมา กรมป่าไม้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ชักลากไม้ที่เหลืออยู่ในป่าในช่วง พ.ศ. 2499-2513 โดยมีการรวมไม้ทั้งหมดไว้บริเวณห้วยกวางเน่าเหนือฝายแม่ก๋อน ไม้บางส่วนก็ถูกชาวบ้านแอบขโมยไปขาย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่กี่คน และชาวบ้านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตัดไม้สวมตอเพื่อนำไปจำหน่ายให้นายทุนที่ อ.สูงเม่น โดยคัดไม้ที่ดีไว้ขาย เหลือไม้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพไว้ให้กับทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แพร่ จึงทำให้ชาวบ้านบางคนร่วมกันขโมยหมอนไม้ที่รอการจำหน่าย ไปขายอยู่เป็นประจำ สรุปคือเหตุที่ป่าเมืองแพร่หมด เพราะมีการสัมปทานป่าไม้มาตั้งแต่สมัยเจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย มาจนถึงการปฏิรูป การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ให้แก่บริษัทของชาวตะวันตก ต่อมาคนแพร่ตั้งบริษัทขึ้นมาเองประมาณ 2-3 แห่ง เป็นการสัมปทานไม้ล้างป่า ชักลากไม้ทุกชนิดออกจากป่า แม้ไม่ใช่ไม้สักและรัฐเป็นฝ่ายยินยอม และเหตุที่ป่าหมดจริง ๆ เพราะการมีโรงบ่มซึ่งใช้ไม้ฟืนมาก
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชาวแพร่มีความผูกพันกับป่าไม้มาโดยตลอด และซึมซับอยู่ในสายเลือด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในขณะที่ภาพลักษณ์ของ จ.แพร่ ที่ผ่านมา ถูกผู้อื่นมองว่าเป็นจังหวัดที่ตัดไม้ทำลายป่ามาโดยตลอด อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และลักษณะของการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับการค้าไม้เป็นหลัก เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จ.แพร่ จึงมีแนวคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ (image) และทัศนคติของผู้คนภายนอก ให้หันมามองว่าชาวแพร่ เป็นผู้ที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ด้วย รวมทั้งมีการนำหลักการผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) มาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วย
โดยกำหนดให้ผู้ใช้ทรัพยากรเป็นผู้รับผิดชอบในความเสื่อมโทรม จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือ ผู้ที่ค้าไม้ต้องปลูกไม้เพิ่มด้วย แนวความคิด “แพร่เมืองไม้และป่างาม” จึงได้เกิดขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาท ในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ในทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกรูปแบบ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการเป็นเมืองไม้และป่างามต่อไป ทั้งนี้ จะมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน นักศึกษา เครือข่ายเยาวชน ภาคประชาชน ภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน กลุ่มองค์กร และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยในระยะแรกจะเริ่มที่กลุ่มผู้ประกอบการค้าไม้ก่อน ซึ่งจะต้องมีการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูก ให้เติบโตเป็นป่าของ จ.แพร่ ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น