FABLAB CMU จุดไฟฝัน “นวัตกร” สร้างทักษะ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะแห่งนวัตกรแก่เยาวชนไทย จัดงาน FABLAB CMU เปิดโอกาสแสดงผลงานแก่นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ วันที่ 27 สิงหาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดงาน นายอัฐพันธุ์ จันทรอินทร์ ผู้บริหาร และจัดการโครงการฯ กล่าวรายงาน อนึ่ง FABLAB CMU ดำเนินงานภายใต้โครงการ FABLAB THAILAND หรือ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) มุ่งพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร แก่เยาวชนไทย เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สานต่อนโยบายจากรัฐบาล ใน 150 โรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ เดินหน้าพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดคล้องกับศตวรรษ ที่ 21 ผ่านการออกแบบ สร้างชิ้นงานนวัตกรรม โดยใช้เครื่องมือผลิตดิจิทัล
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงแก่สถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือก 15 แห่งในเขตภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้มีกิจกรรม คือให้คำปรึกษาในการปรับปรุง รวมถึงสร้างพื้นที่ใช้เป็นโรงประลองกับโรงเรียน จัดจ้างวิศวกรปฏิบัติงานประจำโรงเรียน จัดอบรม การใช้งานเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องพิมพ์สามมิติ และระบบสมองกลฝังตัว พัฒนาเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ (บอร์ด gogo bright และ แบบเรียนออนไลน์) จัดกิจกรรมส่งเสริมการทำโครงงานของโรงเรียนในโครงการ ฯ และให้ทุนสนับสนุน ตลอดจนลงพื้นที่ให้คำปรึกษาการทำโครงงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก Fabrication Lab พร้อมจัดกิจกรรมนำเสนอผลงานให้นักเรียนแสดงผลงานของตนเอง
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ 2 หัวข้อ คือ “ศาสตร์ และศิลป์ของการเรียนรู้ผ่าน Fabrication Lab” โดย อาจารย์ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ รองผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงเรื่อง “ทิศทางโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม และ การต่อยอดสู่อนาคต” โดยคุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการหลักสูตร และสื่อการเรียนรู้
ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ส่วนการเสวนา Fabrication Lab ในสถานศึกษา วิทยากรประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครู โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา, โรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน และวิทยาลัยเทคนิคลำปาง แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ Fabrication Lab กับสถานศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบูรณาการเข้ากับ วิชาเรียนเดิม ตลอดจนส่งเสริมพื้นที่สำหรับการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมภายในโรงเรียน หรือ Maker Club ในสถานศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมจากองค์กร หน่วยงาน สถานศึกษา รวมทั้งผู้สนใจกว่า 300 คน ณ อาคารหอประชุม (NSP Rice Grain Auditorium) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
งาน FABLAB CMU ได้รับความร่วมมือจาก 15 สถานศึกษา ภายใต้โครงการลองประลองต้นแบบทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีโครงงานมากกว่า 30 โครงงาน จัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอผลงาน และประชาสัมพันธ์สถานศึกษา ณ NSP Exhibition Hall อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ นอกจากนั้น คณาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มช.พร้อมด้วยอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี และคุณวสุ ทัพพะรังสี ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นกรรมการในการคัดเลือกโครงงานดีเด่นในแต่ละด้าน
โดยสรุปผลการคัดเลือกโครงงานดีเด่น ดังนี้
รางวัล STEM IN ACTION
• โครงงานเครื่องให้อาหารปลา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา
• โครงงานHOME SOS SYSTEM FOR ELDERLY PEOPLEโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รางวัล INNOVATION
• โครงงานระบบเฝ้าตรวจวัดระดับพลังงานในแบตเตอรี่ที่อัดประจุจากโซล่าเซลล์และส่งข้อมูลไร้สายด้วยลอร่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา
รางวัล AUTOMATION
• โครงงานเครื่องช่วยเปิดหนังสือสำหรับผู้บกพร่องการเคลื่อนไหวทางแขนโรงเรียนแม่จัน จังหวัดเชียงราย
รางวัล DESIGN
• โครงงานเครื่องรับขวดแลกพอยท์ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลําพูน
• โครงงานเครื่องให้อาหารไก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา
• โครงงานระบบรักษาความปลอดภัยในชั้นวางรองเท้าหน้าห้องเรียน โรงเรียนห้องสอนศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน
รางวัล PROTOTYPING
• โครงงานเครื่องจำหน่ายดินสอไม้อัตโนมัติ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 22 จังหวัดแม่ฮ่องสอน
• โครงงานเครื่องให้อาหารไก่อัตโนมัติ โรงเรียนสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
• โครงงานเครื่องช่วยฝึกหัดเย็บเส้นเลือด V.2 วิทยาลัยเทคนิค ลำปาง
• โครงงานตู้ฟักไข่ระบบอัตโนมัติ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา
รางวัล INSPIRATION
• โครงงานเครื่องวัดระดับน้ำแจ้งเตือนน้ำล้นฝาย วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย
• โครงงานโซล่าฟาร์ม วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย
รางวัล DATA – Driven Learning
• โครงงานตู้หยอดเหรียญแลกคูปอง โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
ศูนย์ประสานงานโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียใหม่ ในฐานะผู้ร่วมจัดงานเชื่อมั่นว่างาน FABLAB CMU ครั้งนี้สามารถจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจความตื่นเต้น ความภาคภูมิใจ ความมุ่งมั่นแก่นักเรียน นักศึกษา คุณครู รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา ในการส่งเสริมความเป็นนวัตกรของเยาวชนไทย ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อไปในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น