เกษตร จ.แพร่ เตือนเฝ้าระวังโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว

นายสมมารถ สยมภาค เกษตรจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า ในระยะนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลปลูกข้าวนาปีและเข้าสู่ช่วงฤดูฝน สภาพแวดล้อมในระยะนี้มีฝนตกสลับกับมีแดดจัดในตอนกลางวัน ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งสภาพอากาศเช่นนี้ทำให้เหมาะแก่การเกิดโรคและแมลงศัตรูในนาข้าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ ที่อาจสร้างความเสียหายให้เกษตรกรผู้ทำนา จึงฝากเตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในช่วงนี้ ให้เฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ ควรหมั่นสังเกตและเฝ้าระวังแปลงนาของตนอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตเสียหายได้ หากไม่มีการป้องกันอาจทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงได้ ซึ่งการระบาดของของโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั่นเกิดการระบาดโดยใช้กระแสลมเป็นตัวพัดพา จึงทำให้โรคสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
โรคไหม้เป็นโรคที่เกิดได้ง่ายโดยเฉพาะแปลงนาที่มีการปลูกข้าวจำนวนมากและหนาแน่น และเพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังโรคไหม้ แนะนำให้ลดการใส่ปุ๋ย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง การป้องกันโรคไหม้ให้ได้ผลดี ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเริ่มตั้งแต่แช่หรือคลุกกับเมล็ดข้าว จนถึงระยะข้าวก่อนออกรวงประมาณ 3-4 ครั้ง ก็สามารถป้องกันโรคได้เป็นที่น่าพอใจ หรือกรณีที่เพิ่งพบการระบาดระยะแรกๆ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมสารจับใบฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือช่วงแสงแดดอ่อนๆ ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ทุก 5 วัน ก็สามารถลดการระบาดของโรคได้ แต่ถ้าพบการระบาดระยะรุนแรงและจำเป็นต้องใช้สารเคมี ควรฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล ไอโซไพรไทโอเลน คาซูกาไมซิน อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิน ผสมสารจับใบตามอัตราที่ฉลากระบุไว้

ส่วนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้น แนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในฤดูกาลถัดไปควรปลูกข้าวพันธุ์ต้านทางเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข4 กข9 กข15 กข25 กข31 (ปทุมธานี 80) กข43 ชัยนาท1 ชัยนาท2 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3 สุพรรณบุรี60 สุพรรณบุรี90 พิษณุโลก2 พิษณุโลก60-2 และไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดู หรือในแหล่งที่มีการระบาดและควรคุมระดับน้ำนาได้นาได้หลังปักดำหรือหว่าน 2 – 3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้องให้ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7 – 10 วัน ปล่อยน้ำขังทิ้งไว้แล้วปล่อยให้แห้งเองสลับกัน หรือใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเวลาเย็น หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจักเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแนะนำให้ใช้สารเคมี เช่น บูโพรเฟซิน ไดโนทีฟูแรน ไอโซโพรคาร์บ อีโทเฟนพรอกซ์ ไพรมิโทซิน คาร์โบซัลเฟน ผสมสารจับใบตามอัตราที่ระบุ และการใช้สารเคมีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัยอย่างเคร่งครัด หากเกษตรกรต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน หรือกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ โทร.054-511214 ได้ในวันเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น