“รุ่ง จันตาบุญ” สล่าเมืองแป๋งวัดเพื่อคนล้านนา

“วัด” ศาสนสถานที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวล้านนามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในดินแดนล้านนาเมื่อเกือบพันกว่าปีมาแล้ว ภายในวัดแบบล้านนาประกอบด้วยสถาปัตยกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวิหาร อุโบสถ เจดีย์ ซุ้มประตูโขง และศาลาบาตร นอกเหนือไปจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังต้องสะท้อนคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง เพื่อกล่อมเกลาพุทธศาสนิกชนให้มีจิตน้อมนำไปสู่ความศรัทธา ดังนั้นช่าง หรือสล่าผู้สร้างวัดนั้น จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในคติศาสนาเป็นอย่างดีด้วย แม้ว่าปัจจุบันวัดของล้านนามีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนทางค่านิยมของพุทธศาสนิกชน และรวมไปถึงรสนิยมทางศิลปะความเชื่อ อย่างไรก็ในปัจจุบันเกิดกระแสการสร้างวัดตามรูปแบบจารีตดั้งเดิม สล่า
ท่านหนึ่ง ผู้เป็นที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันว่า เป็นผู้สร้างวัดตามแนวอนุรักษ์รูปแบบโบราณ นั้นคือ สล่ารุ่ง จันตาบุญ สล่ารุ่ง เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2515 เป็นชาวบ้านสบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยกำเนิด ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถาปนิกผู้สร้างวัดสำคัญหลายแห่งในล้านนา ในนาม หจก.ช่างรุ่งคอนสตักชั่นแล้ว ยังมีความชอบในด้านการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์เลี้ยงโคนม โดยเปิดฟาร์มเป็นของตัวเองใช้ชื่อว่า ฟาร์มช่างรุ่ง ตั้งอยู่ที่อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่พันกว่าไร่ และทำเป็นรีสอร์ทที่พักขนาดเล็กอีกด้วย
ทางการศึกษาสล่ารุ่ง จบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาวิชาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับ ปวส. ที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เริ่มทำงานเป็นข้าราชการกรมศิลปากร หน่วย 4 ภาคเหนือ จากนั้นจึงลาออกจากราชการมาเป็นรับทำงานด้วยตนเอง และก่อตั้ง หจก.ช่างรุ่งคอนสตักชั่นขึ้น ผลงานของสล่ารุ่งมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานบูรณะโบราณสถาน ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ สร้างวิหาร โบสถ์ เจดีย์ ซุ้มประตูโขง รวมไปถึงอาคารสมัยใหม่ที่ต้องการรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณ อย่างโรงแรมหรือศูนย์ประชุม ผลงานที่หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น วัดหยวน จังหวัดพะเยา วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วิหารและซุ้มประตูโขงวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ บรูณะวัดเจ็ดยอด มหาโพธารามวรวิหาร บรูณะพระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอแก้ว และหอทุ่งเกว๋น ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บูรณะพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ วิหารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พิพิธภัณฑ์หลวงปู่พระธรรมดิลก วิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หอคำหลวง โครงการมหกรรมพืชสวนโลก 2549 จังหวัดเชียงใหม่ ปราสาทนกหัสดิลิงค์ หลวงปู่พระพุทธพจนวราภรณ์วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ปราสาทนกหัสดีลิงค์พระครูพิศิษฏ์สังฆการ วัดศรีดอนมูล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โรงแรมดาราเทวี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โรงแรมเดอะริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น จนในที่สุดได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในปี พ.ศ.2550
ผลงานการออกแบบและการก่อสร้างที่สร้างความภาคภูมิใจ คือ หอคำหลวง ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ เนื่องจากเป็นความฝันมาตั้งแต่เริ่มทำงานด้านนี้ มีความคิดอยากฟื้นฟูการสร้างหอคำหลวงแบบโบราณขึ้นมาอีกครั้ง หอคำเป็นงานสถาปัตยกรรมโบราณของล้านนาที่สูญหายไปพร้อมๆกับตำแหน่งเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ และการสร้างหอคำครั้งนี้ยังเป็นการสร้างเพื่อถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต นอกจากนี้หอคำหลวงยังเป็นผลงานที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะชนในระดับสากล ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมล้านนา ส่วนผลงานอื่นๆ ที่เคยได้ทำและรู้สึกท้าทายความสามารถ เช่น ปราสาทพม่าล๊อปปี้หลักของโรงแรมดาราเทวี ที่ได้ใช้เทคนิคการก่อสร้างไม้ตามแบบโบราณแทบทั้งหมด วัดไหล่หินจำลอง โรงแรมดาราเทวี วิหารไม้จัตุรมุข วัดเจดีย์หลวง ซึ่งจำลองแบบมาจากวัดปงสนุก จ.ลำปาง ที่ได้ทำเทคนิคการเข้าไม้แบบโบราณได้ค่อนข้างมาก เป็นต้นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นผลมาจากการประสบการณ์ในชีวิต ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในกรมศิลปากรซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะการขุดค้นโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโบราณสถานเมืองเชียงแสน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งรวมมรดกทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของล้านนา ได้เห็นวิธีการก่อสร้างอาคารแบบโบราณด้วยตาของตนเอง ความประทับในความงดงามของสถาปัตยกรรมเหล่านั้น ได้กลายเป็นแรงขับที่สำคัญในการสร้างสรรค์งานในปัจจุบัน นอกจากนี้การทำงานในช่วงนี้ยังทำให้ได้พบเจอบุคคลทำสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตได้แก่ อ.สนั่น สมพื้น และอ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ทั้งสองท่านเป็นทั้งต้นแบบและอาจารย์ผู้สอนเทคนิคต่างๆ ให้แก่ตน
นอกจากนี้ความเชื่อในพระพุทธศาสนาก็มีส่วนสำคัญ ช่วงชีวิตในวัยเด็กเติบโตมากับ “แม่อุ๊ย” ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา การอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ทำให้ตนเป็นผู้มีศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา การทำงานส่วนใหญ่จึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับอาคารทางพระพุทธศาสนา และแม้บางครั้งทางวัดจะขาดแคลนทุนทรัพย์ ก็จะค่อยช่วยเหลือและสนับสนุนผลักดันในโครงการก่อสร้างต่างๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ในปัจจุบันช่างรุ่งยังคงตั้งปณิธานว่าจะทำบุญและช่วยเหลือพระพุทธศาสนาในด้านอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าผ่านของสล่ารุ่งที่ผ่านมาจะเป็นสถาปัตยกรรมในเชิงอนุรักษ์รูปแบบประเพณี แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามความนิยมของยุคสมัย ในระยะหลังนี้เริ่มมีโรงแรมเข้ามาให้ออกแบบมากขึ้น ทำให้สล่ารุ่งได้มีโอกาสออกแบบงานสมัยใหม่ด้วย สล่ารุ่งเห็นว่า หากสถาปนิกคนหนึ่งๆ จะสามารถออกแบบงานสถาปัตยกรรมโบราณได้อย่างงดงาม ก็ย่อมจะออกแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ดีเช่นกัน เพราะทั้งสถาปัตยกรรมโบราณและสมัยใหม่ก็ล้วนแล้วแต่มีจุดรวมเดียวกัน นั่นคือ “ความพอดี”
สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันหลงลืมละเลยกันไป คือ เอกลักษณ์ล้านนา ความเป็นพื้นถิ่น พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณี คนในยุคปัจจุบันมุ่งหาแต่สิ่งใหม่ๆ มุ่งเข้าหาวัตถุ จนลืมจิตวิญญาณ การบำรุงจิตใจด้วยสุนทรียะ ไม่ควรลืมว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องมีรากเหง้า รากเหง้าของเรา คือ ล้านนา ความพื้นถิ่นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไปจากชีวิตไม่ได้ ในทัศนะคติของสล่ารุ่ง งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้านนาซึ่งตนเองชื่นชอบนั้น คือ ความงดงามในจิตวิญญาณ เป็นงานที่อ่อนไหว มีความพลิ้ว ไปได้ทุกสถานการณ์ สามารถนำไปประยุกต์ได้ ต่อยอดได้ แต่ขอเพียงระลึกถึงจังหวะ สัดส่วน และความถูกต้องเหมาะสม สำหรับตนเองแล้วคิดว่าสัดส่วนรูปร่างเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นพื้นถิ่นได้ชัดเจน “…อยากจะฝากถึงรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอาย ไม่ว่าจะท้องถิ่นไหนก็ตาม เป็นเรื่องที่เราควรยกย่อง เรามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนคนอื่นอยู่แล้ว เรามีสิ่งดีดีที่ไม่ด้อยไปกว่าที่อื่นเลย ที่อื่นเขายังสามารถสร้างให้เกิดงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นได้ เราอยู่ในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรพร้อมสมบูรณ์ แต่ยังขาดคนที่จะหวงแหน ก่อร่างสร้างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนี้ เพื่อไปเปิดสายตาหลายๆประเทศ แล้วน้องจะมีความสุขกับการทำงานในสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนี้ครับ…”
บทความโดย
โครงการสร้างองค์ความรู้สถาปัตยกรรมล้านนา ด้านภูมิปัญญาช่างล้านนาด้านที่ 5
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น