“ไอบุญ อุ่นรัก” เที่ยวประเพณีสำคัญที่ลำพูน

นครหริภุญชัย หรือเมืองลำพูน ในวันนี้คือเมืองที่เปรียบประดุจกุหลาบงามของแผ่นดินล้านนา เมืองซึ่งถือได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่เวียงหละปูนของพระแม่เจ้าจามเทวีในอดีตซึ่งได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมของล้านนา ตลอดจนศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญและยังคงมีให้เห็นอยู่ตราบจนปัจจุบันเมื่อใดก็ตามที่ลมหนาวมาเยือนก็จะจุดประกายแต่งแต้มเสน่ห์ของเมืองลำพูน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับไอบุญ อุ่นรัก วัฒนธรรมและมิตรภาพของคนเมืองลำพูน จนกระทั่งลำพูนได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติว่าเป็นเมืองแห่งศาสนาและวัฒนธรรมของล้านนา
ในวันเวลาที่ท้องฟ้าสดใส หากพอมีเวลาว่าง 2 – 3 วันจึงเป็นห้วงเวลาอันดีที่นักท่องเที่ยวจะได้ออกไปสัมผัสกับเมืองลำพูน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวและประเพณีที่น่าสนใจก็มีมากมายตลอดทั้งปี โดยอาจเริ่มจากช่วงวันเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีการสวดเจริญพระพุทธมนต์จากปีเก่าล่วงเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งจัดขึ้น ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นประจำทุกปีในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พอถึงวันเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปเวณีปี๋ใหม่เมืองลำพูน ก็มีการรณรงค์เที่ยวสงกรานต์โดยใช้รถจักรยาน เพื่อลดมลภาวะ เนื่องจากเห็นว่ากิจกรรมงานสงกรานต์ของทุกจังหวัดจะมีปัญหาเรื่องมลพิษจากควันรถที่เข้ามาเที่ยวงานสงกรานต์ ทางกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงได้หันมารณรงค์ใช้รถจักรยาน (รถถีบ) เที่ยวงานสงกรานต์แทน เพราะนอกจากจะไม่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมแล้วยังไม่ทำให้คนที่เข้าเที่ยวงานสงกรานต์ลำพูนไม่หงุดหงิดจากปัญหารถติด และยังเป็นการส่งเสริมการใช้รถจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากงานสงกรานต์ที่อื่น ๆ ซึ่งทางจังหวัดลำพูนกำลังส่งเสริมรณรงค์ความเป็นเมืองเงียบสงบน่าอยู่ (Slow city) ดังนั้นการใช้รถจักรยานเที่ยวงานสงกรานต์ลำพูนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งตามกระแสการท่องเที่ยว
ช่วงเดือนมิถุนายน มีกิจกรรมสำคัญที่ศรัทธาชาวล้านนารวมถึงคนลำพูนถือเป็นวันครบรอบวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย มหาสมณะเจ้า หรือที่คนล้านนาเรียกท่านว่า “ตนบุญ” จัดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน ของทุกปี ภายในงานดังกล่าวมีการจัดนิทรรศการผลงานและอัตถชีวประวัติของท่าน ในช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตรเพื่อรำลึกถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งชาวบ้านชุมชนจามเทวีได้ถือปฏิบัติสืบต่อมาเป็นประจำทุกปี และยังมีนิทรรศการประวัติผลงาน หนังสือ สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัย รวมถึงหนังสือหมายเหตุครูบาฯ รวบรวมภาพเก่าของครูบาศรีวิชัยจากสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหาชมได้ยาก งานครบรอบครูบาเจ้าศรีวิชัย จัดขึ้น ณ วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน ตั้งแต่ 9.00 – 15.00 น.
งานประเพณีที่สำคัญในช่วงเดือนตุลาคมก็คือ งานประเพณีทานก๋วยสลาก หรืองานสลากภัต จะเริ่มต้นตั่งแต่วันเพ็ญเดือนสิบ (เดือน 12 เหนือขึ้น 15 ค่ำ) ตามธรรมเนียมจะให้วัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด หรือวัดหลวง จัดงานทานสลากภัตก่อน คือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จากนั้นวัดอื่น ๆ ก็จัดงานทานสลากภัตเรื่อยไป จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือเดือนเกี๋ยงดับ)การทำต้นสลาก ก็จะเป็นการช่วยกันทำในตอนกลางวัน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมของผู้ชายที่มีความรู้ทางช่าง โดยใช้บริเวณลานบ้านของเจ้าของต้นสลากนั่นเอง ในระหว่างที่มีการเตรียมต้นสลากก็จะมีการตัดกระดาษสีต่าง ๆ เป็นลวดลายประดับต้นสลาก มีการย้อมเฮียวด้วยสีสันต่าง ๆ ซึ่งในการประดับต้นสลากด้วยเฮียวสีต่าง ๆ จึงทำให้เป็นที่มาของคำว่า “สลากย้อม” เมื่อทำต้นสลากเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะนำต้นสลากไปประดับตกแต่งด้วยของใช้ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ปัจจุบันงานประเพณีทานก๋วยสลาก ได้จัดขึ้นอย่างใหญ่โต มีการนำต้นสลาก หรือสลากย้อมของชาวยองเข้าร่วม
ในช่วงประเพณีลอยกระทง หรือเดือนยี่เป็ง อันเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนท้องฟ้าสดใสและอากาศสดชื่นเย็นสบาย เป็นระยะเวลาที่ชาวบ้านจะเริ่มทำบุญและมีงานสนุกสนานรื่นเริงอีกครั้ง ก่อนหน้านั้น 2-3 วันก่อนวันยี่เป็ง ตามวัดวาอารามและครัวเรือนของชาวล้านนามีการทำซุ้มประตูป่า ประดับตกแต่งหน้าบ้านหน้าประตูวัดหรือหน้าวิหารด้วยกล้วย อ้อย ก้านมะพร้าว โคมไฟและดอกไม้นานาชนิด
พิธีลอยกระทงนั้นทางภาคเหนือเรียกว่า “พิธีลอยหะโมด” เพราะลักษณะของกระทงที่จุดเทียนแล้วปล่อยลงไปในน้ำจะมีแสงสะท้อนกับเงาน้ำวับ ๆ แวม ๆ ดูคล้ายกับแสงไฟของผีโขมดซึ่งเป็นผีป่า สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากพวกมอญในสมัยหริภุญชัย การลอยกระทงถือเป็นการระลึกนึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาเป็นการบูชาพระพุทธบาท นอกเหนือจากการลอยกระทงแล้วยังมีประเพณีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธบทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น