“จุลทัศน์ กิติบุตร”  สถาปนิกผู้ปลุกฟิ้นจิตวิญญาณล้านนา

ดินแดนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในอดีตรู้จักกันในนาม “ล้านนา” มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานมากกว่า 700 ปี ผู้คนในดินแดนนี้ได้สั่งสมวัฒนธรรม ประเพณี และมรดกทางภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นก็คือ งานสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตามสภาพสังคม
ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยอย่างมีพลวัต จวบจนถึงปัจจุบัน เป็นคำถามที่คนทั่วไปสนใจในการคงอยู่ของสถาปัตยกรรมล้านนา และทิศทางความเป็นไปในอนาคต สถาปนิกในรุ่นของเราน่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
หากกล่าวถึงสถาปนิกที่ทำงานออกแบบอาคารที่มีรูปแบบร่วมสมัย มีกลิ่นอายของพื้นถิ่นล้านนา ทั้งยังมีพื้นเพเป็นคนล้านนาโดยกำเนิด น้อยคนที่จะไม่รู้จัก อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ผลงานของท่านได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป โดดเด่นอย่างยิ่งในแง่ของการนำสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว จนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) พ.ศ. 2547
อาจารย์จุลทัศน์สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อพ.ศ.2511 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถาปนิกและดูแลบริษัท เชียงใหม่ อาร์คิเทค คอแลบอเรทีฟ จำกัด และร้านอาหารบ้านสวนของตัวเองแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอีกด้วย
อาจารย์จุลทัศน์ เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ณ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ เติบโตขึ้นในสถานที่สำคัญของเมือง ได้แก่ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์มหาอินทร์ (ปัจจุบันเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ในความดูแลของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่) และคุ้มเจ้าราชวงศ์ชมชื่น (ปัจจุบันเป็นบ้านพักอาศัยส่วนบุคคลในตระกูลทิพยมณฑล) เมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นยังคงความบริสุทธิ์ มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่งดงามอยู่โดยรอบ เช่น วิหารและหอไตรวัดดวงดี วิหารวัดพันเตาซึ่งในอดีตเป็นหอคำเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวง เป็นต้น
คุณแม่และคุณยายปลูกฝังอบรมโดยมักพาวัดเข้าอยู่เสมอ ทำให้อาจารย์เข้าใจถึงขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างดี ประสบการณ์ในช่วงวัยเยาว์นี้เอง ได้หล่อหลอมความคิด ทัศนะคติ ค่านิยมให้เป็นผู้ที่รักในบ้านเกิดเมืองนอน รักหวงแหนในวัฒนธรรมล้านนา
ส่วนความงดงามของเชียงใหม่ ซึ่งสัมผัสได้ทางตานั้น บ่มเพาะรสนิยมและสุนทรียะ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานของอาจารย์ทำให้ผลงานของเกือบทุกชิ้น มักมีกลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นเข้าไปเจือปนไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในทัศนะคติของอาจารย์ คือความพอดี มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป มีความเรียบง่ายและธรรมดา ที่สำคัญคือ มีความงดงามที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก้อนอิฐ แผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้ที่เก่าซีดล้วนแล้วแต่สร้างความงามได้ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่เสมอ จากประวัติศาสตร์และตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในอดีตที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่างานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีพลวัต การพยายามเข้าไปหยุดยั้งพัฒนาของมัน เท่ากับทำให้สถาปัตยกรรมนั้นๆ หยุดนิ่งและตายลงในที่สุด สิ่งสำคัญในการพัฒนาคือ การนำภูมิปัญญาในอดีต รากเหง้าทางวัฒนธรรมมาต่อยอด ผลงานการออกแบบอาคารตลอดช่วงชีวิตการทำงาน มีหลากหลายเกือบทุกรูปแบบ ตั้งแต่อาคารขนาดใหญ่ไปจนถึงอาคารขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม โรงภาพยนตร์ วัด ตลาด ตลอดจนถึงบ้านพักอาศัยส่วนบุคคล ผลงานที่มีชื่อเสียงโดดเด่น
อาทิ ตลาดประตูเชียงใหม่ สมาคมวายเอ็มซีเอ โรงภาพยนตร์แสงตะวัน บ้านวังน้ำปิง บ้านนภาดอย วัดอนาลโยทิพยาราม โรงแรมเดอรีเจนซ์โฟร์ซีซันเชียงใหม่ โรงแรมเดอะรีเจนซ์เชียงรายบูติคริเวอร์รีสอร์ทแอนด์สปา บ้านสวนสันผีเสื้อ โรงแรมมณีเทวาเชียงราย เป็นต้น แต่ที่ถนัดและชื่นชอบมากเป็นพิเศษก็คือ ประเภทอาคารที่พักอาศัย ทั้งบ้านส่วนบุคคล โรงแรม หรือรีสอร์ท ทุกครั้งจะมีความสนุกสนานในการทำงาน เพราะคิดว่ากำลังออกแบบบ้านของตนเอง เอาใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัสดุที่ดีที่สุดมาสร้าง นำแหล่งวัตถุดิบจากหลากหลาย ลองนำมาเปรียบเทียบกัน บ้านเจ้าสุไร ศุกระจันทร์ หรือบ้านวังน้ำปิง นับเป็นอีกผลงานที่ภาคภูมิใจ เพราะได้นำคุ้มบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งอาจารย์ผูกพันในวัยเยาว์มาเป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจ จนได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามในฐานะที่เป็นงานอาคารที่พักอาศัยที่มีความลงตัวในแง่ของการใช้สอย และความงามแบบพื้นถิ่นร่วมสมัย
ในความคิดเห็นของอาจารย์ สถาปนิกต้องเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อถามถึงผลงานที่เคยออกแบบและชื่นชอบมากเป็นพิเศษ จึงไม่มีผลงานชิ้นไหนที่ดีเด่นมากกว่าชิ้นอื่น ไม่ชื่นชอบอันใดอันหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ละผลงานดีเยี่ยมอยู่ในตัวของมันเอง ตามกาลตามวาระตามเงื่อนไข สถาปนิกไม่ควรยึดติดชื่นชมผลงานที่ผ่านมา และควรมุ่งสร้างสรรค์ผลงานในอนาคตให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้อาจารย์จุลทัศน์ ยังกล่าวถึงกลุ่มผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในปัจจุบัน นั่นคือ สล่าหรือช่างพื้นบ้าน ซึ่งนับวันจะมีผู้ที่สืบทอดน้อยมาก ดังนั้นหนึ่งในความคิดของอาจารย์คือต้องการปลุกจิตวิญญาณของความเป็นช่างพื้นบ้านขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการฝึกฝนเด็กรุ่นใหม่ที่มีความต้องใจจริง มาร่ำเรียนฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญและชำนาญ ในจุดนี้เพราะอาจารย์เล็งเห็นว่าเรื่องของประสบการณ์มีความสำคัญไม่น้อยว่าการศึกษาร่ำเรียนเพื่อมุ่งหวังเพียงใบปริญญาหรือใบประกอบวิชาชีพในปัจจุบัน ด้วยจิตวิญญาณในความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้อาจารย์พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ โดยที่ความมุ่งหวังของอาจารย์อยากเห็นนักเรียน นักศึกษาที่มีคุณภาพ รวมไปถึงฟื้นความเป็นสล่าและยกย่องในความสามารถในฐานะที่เป็นหนึ่งส่วนที่ช่วยให้งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยังคงก้าว
ต่อไปข้างหน้า
อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ได้เป็นอย่างตัวอย่างของสถาปนิกล้านนาอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนล้านนาเท่านั้น แต่ความรู้สึก นึกคิดและจิตวิญญาณล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดออกมาด้วยความสำนึกรักษ์ในล้านนาเป็นอย่างยิ่ง เป็นสถาปนิกในยุคสมัยใหม่ที่ได้ผนวกเอาความรู้แบบสากล และความเชี่ยวชาญเชิงช่าง หรือ “สล่า” แบบโบราณเข้าด้วยกัน เป็นตัวแทนของสล่าล้านนาในยุคปัจจุบันได้อย่างสมบรูณ์แบบ
บทความโดย
โครงการสร้างองค์ความรู้สถาปัตยกรรมล้านนา ด้านภูมิปัญญาช่างล้านนาด้านที่ 5
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น