ไทย-เมียนมา ฆ่าหมูสกัดอหิวาต์ หลังเริ่มระบาดชายแดน

วันที่ 16 ก.ย.62 กรมปศุสัตว์ได้ประกาศให้พื้นที่ จ.เชียงราย เป็นเขตเฝ้าระวังเชื้ออหิวาต์แอฟฟริกาในสุกรหรือหมู เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโรคในหมู ของเขตประเทศเพื่อนบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการกำจัดหมูที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ด้าน ต.แม่สาย ต.เกาะช้าง ไปจนถึงสุดชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุหมูในเขตบ้านแก้วแกลงกูร บ้านกาน่า บ้านแม่อง 1 บ้านแม่อง 2 และบ้านป่าแหน่ ต.เมืองไฮ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และชาวบ้านได้นำหมูที่ตายทิ้งลงลำน้ำสะโท่ง ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำแม่ขาวที่ไหลลงสู่ลำน้ำสาย ชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 บ้านสันผักฮี้ หมู่ 3 ต.แม่สาย ก่อนไหลสู่ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย
โดยที่ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อสรุปสถานการณ์ โดยได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ 8 อำเภอคือ อ.แม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สาย เชียงแสน เชียงของ ดอยหลวง เวียงแก่น และเวียงเชียงรุ้ง โดยในเขตดังกล่าวห้ามเคลื่อนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีการตั้งด่านตรวจ 24 ชั่วโมง
นายภาษเดช กล่าวว่า จ.เชียงราย ใช้มาตรการตามประกาศจังหวัดครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ แต่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดในเขต 8 อำเภอ ที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยข่าวการพบหมูตายบางอำเภอ ผมเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้น ต้องรอผลการตรวจสอบก่อน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่จะให้คำตอบ ส่วนการจะขนย้ายหรือทำให้ซากกระจายออกไปในช่วงนี้นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะหากทำไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท

นายสัตวแพทย์กฤษณิ์ พิมพ์งาม นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่ากรณีหมูตายพื้นที่ อ.แม่จัน นั้นถือว่าพบเพียงจุดเดียวของ จ.เชียงราย แต่ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่ปรากฎในสื่อสาธารณะหรือโชลเชียลมีเดียร์ประเภทไลน์ ที่ปรากฎภาพหมูจำนวนมาก โดยพบการตายเพียง 2 รายๆ ละประมาณ 1-2 ตัว โดยไม่ทราบสาเหตุจึงได้นำซากไปตรวจพิสูจน์ที่หน่วยงานพิสูจน์ที่ตั้งอยู่ จ.ลำปาง และไม่ควรตื่นตระหนกเพราะไม่ได้ติดสู่คน และไม่ได้มีการตายจำนวนมากอย่างที่เผยแพร่กันในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด
สำหรับมาตรการดำเนินการแบ่งเป็น 3 มาตรการคือ 1.มาตรการควบคุมโรค โดยหากพบมีการตายต้องสงสัยในพื้นที่ใดก็ให้เก็บตัวอย่างไปตรวจ และกำจัดหมูต้องสงสัยในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป 2.มาตรการเฝ้าระวังด้วยการออกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังดังกล่าว โดยมีการห้ามขนย้ายสุกรเข้าออกพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ และมาตรการที่ 3.กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังซึ่งคือ 8 อำเภอดังกล่าว จัดประชุมและกำหนดการทำงานให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ส่วนด่านตรวจนั้นมีด่านบูรณาการร่วมหน่วยงานต่างๆ

สำหรับพื้นที่ที่พบหมูตายเขตหมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน นั้นทาง นายพลวัต วงค์คำ ผู้ใหญ่บ้าน ระบุว่าได้เกิดเหตุหมูตายไม่ทราบสาเหตุได้ประมาณ 1 สัปดาห์มาแล้ว แต่ผู้เลี้ยงไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ และใช้ยาฆ่าเชื้อและวัคซีนเข้าไปควบคุมโรค แต่ก็พบว่าหมูทะยอยตายไปเรื่อยๆ ล่าสุดได้มีทำลายหมูลี้ยงทั้งหมดในรัศมี 1 กิโลเมตร คาดว่ามีหมูถูกกำจัดไปประมาณ 120 ตัว เจ้าหน้าที่ได้ฆ่าเชื้อโรงเลี้ยงและฝังพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการชดเชยร้อยละ 75 ของราคาปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าการที่หมูตายเกิดจากเชื้อโรคที่ติดมากับกระสอบอาหาร หรือรถยนต์ หรือผู้ที่นำอาหารมาส่ง รวมทั้งหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงเป็นแบบฟาร์มเปิดหรือเลี้ยงกันเองตามโรงเรือน ทำให้ไม่มีระบบป้องกันเหมือนฟาร์มใหญ่ๆ ในฝั่งประเทศเพือนบ้านได้มีการกำจัดสุกร มีการนำฝังกลบและเทด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เฉพาะฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก มีการกำจัดไปไม่น้อยกว่า 500 ตัว และปิดฟาร์มทั้งขนาดใหญ่ และผู้เลี้ยงรายย่อยทั้งหมดในเขตดังกล่าวแล้ว
ส่วนฝั่งไทยทางคณะทำงานของกรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยมีทั้งการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อ การกำจัดและฝังกลบหมูบางส่วนพื้นที่ ต.เกาะช้าง ต.ศรีเมืองชุม โดยเบื้องต้นให้สมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รับซื้อแล้วนำหมูตามพื้นที่ชายแดนมากำจัดไว้ก่อน โดยมีรายงานว่าจัดการไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ตัวเช่นกัน ซึ่งมีรายงานว่ามีการตั้งเป้าขยายขอบเขตการกำจัดให้กว้างขึ้น และจำนวนหมูก็เพิ่มมากขึ้นอีกเท่าตัวด้วย

ด้านฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ดร.จ่อจ่อโซ รอง ผอ.การเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตว์แพทย์ จ.ท่าขี้เหล็ก ได้มีการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อหมูที่ตายไปส่งตรวจที่กรุงย่างกุ้ง  ซึ่งมีห้องแล็ปที่ทันสมัยแล้วปัจจุบันยังไม่แจ้งผลมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดว่าจะเกิดจากเชื้ออหิวาต์ในหมู เพราะมีการแพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่ประเทศจีน สปป.ลาว ที่อยู่ใกล้เคียงกัน สำหรับ จ.เชียงราย มีฟาร์มหมูและโรงเลี้ยงรวมกันจำนวนประมาณ 7,600 แห่ง และได้เข้าตรวจสอบแล้ว จำนวน 4,902 แห่ง มีหมูทั้งหมด 169,216 ตัว และพบมีฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรค จำนวน 87 ฟาร์ม มีหมู จำนวน 937 ตัว

ร่วมแสดงความคิดเห็น