ตามรอยวรรณกรรมรักของล้านนา “พระธาตุพระลอ” เมืองแพร่

ตำนานวรรณกรรมรักเรื่อง “พระลอ” นี้เป็นเพียงนิทานพื้นบ้าน ในยุคต่อมากวีชาวเหนือได้รจนาขึ้นเป็นค่าวซอหรือเป็นบทกวี จนกระทั่งสมัยยุคต้นกรุงศรีอยุธยา จึงได้มีการนำเรื่องพระลอมาแต่งเป็นลิลิตสุภาพขึ้น จนเรื่องพระลอกลายเป็นที่รู้จัก ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 6 โบราณคดีสโมสรแหล่งรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายในยุคนั้น ต่างพร้อมใจกันยกเรื่องลิลิตพระลอขึ้นเป็นสุดยอดของบทกวีประเภทลิลิตสุภาพ ตำนานรักของพระลอเชื่อว่าเกิดขึ้นที่เมืองสรวง คืออำเภอสอง จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน ในตำนานพงศาวดารโยนกกล่าวว่า “เจ้าฟ้าเมืองนายกับเจ้าฟ้าเมืองเชียงทองสองพี่น้อง ยกรี้พลมาตีเมืองต่าง ๆ ได้เมืองเชียงราย เชียงแสน เมืองลอ เมืองพะเยา ลุถึงเดือน 11 ขึ้น 2 ค่ำปีเดียวกัน ยกกำลังพลจากแก่งเมืองพะเยาระยะทางแปดพันวา ไปแรมทางเมืองสะเอียบ ยกจากเมืองสะเอียบไปแรมทางที่ป่าเลา ยกจากป่าเลาไปแรมเมืองสรวงระยะทางหมื่นวา ยกจากเมืองสรวงไปแรมป่าเสี้ยว ยกจากป่าเสี้ยวไปแรมเมืองแพร่”
จากหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าว นักวรรณคดีจึงเชื่อว่าเมืองสรวงของพระลอ ก็คือเมืองสองในปัจจุบัน ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและพบวัตถุโบราณเก่าแก่มากมายหลายประการ ที่ตำบลบ้านกลางปรากฏร่องรอยเป็นตัวเมือง มีมูลดินถมเป็นกำแพงเมืองหนา 3 ชั้น นอกจากนั้นยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่มีชื่อพ้องกับเรื่องลิลิตพระลออีกหลายแห่ง เช่น มีน้ำตกกาหลง เด่นนางฟ้อน ถ้ำปู่เจ้าสมิงพราย และยังมีพระธาตุพระลอที่ยังเชื่อกันว่ามีเรื่องราวเกี่ยวพันกับเรื่องพระลอ จนทางราชการได้จัดสร้างรูปปั้นพระลอ พระเพื่อน พระแพงขึ้นไว้ในบริเวณวัดด้วย
ตำนานเรื่องพระลอ เริ่มต้นขึ้นด้วยสงครามระหว่างสองเมือง คือเมืองสรวงของท้าวแมนสรวงและเมืองสรองของท้าวพิมพิสาคร ผลของสงครามทำให้เมืองทั้งสองกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต พระลอซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองสรวง เป็นชายหนุ่มรูปงาม ที่ความงามของพระลอได้รับการกล่าวขานเป็นบทเพลงสรรเสริญที่ขจรขจายไปถึงหูของพระเพื่อน พระแพง สองพระธิดาของเจ้าเมืองสรอง ด้วยวิบากกรรมแต่หนหลังทำให้สองพระธิดาเกิดมีใจปฏิพัทธ์ในพระลอ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบกัน จึงร่วมกับพระพี่เลี้ยงนางรื่น นางโรย วางแผนให้กวีแต่งบทสรรเสริญความงามของทั้งสองพระองค์ออกขับขานไปบ้าง พร้อมกันนั้นพระพี่เลี้ยงของสองธิดายังไปขอความช่วยเหลือจากปู่เจ้าสมิงพราย ผู้วิเศษประจำเมืองให้ใช้เวทมนต์เรียกพระลอมาหา
ด้วยอำนาจแห่งปู่เจ้าสมิงพราย พระลอมิอาจทานอำนาจมนต์อยู่ได้ แม้จะถูกทัดทานความรักจากทั้งแม่และเมีย ต้องเสด็จมายังเมืองสรองพร้องด้วยนายแก้ว นายขวัญสองพี่เลี้ยง ระหว่างทางพระลอเสด็จลงเสี่ยงลงน้ำที่แม่น้ำกาหลง ผลการเสี่ยงบอกว่าพระลออาจต้องเสียพระชนม์หากยังเสด็จไป แต่กระนั้นด้วยความมานะและอำนาจเวทมนต์แห่งปู่เจ้าสมิงพราย พระลอยังคงมุ่งหน้าไปเมืองสรองต่อไปในที่สุดพระลอก็สามารถเสด็จเข้าไปจนถึงสวนขวัญ อุทยานหลวงของเมืองสรองได้สำเร็จ ด้วยการชักนำของไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกมา และพระเพื่อน พระแพงก็ได้พบกับพระลอ ทั้งสามพระองค์เกิดความรักและเป็นของกันและกันจากผลพวงของวิบากกรรมนั่นเอง
ในตำนานพระลอที่แปลโดยพระเกียรติศักดิ์ วัดพระธาตุพระลอ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า พระลอทรงหลบซ่อนสมสู่อยู่ด้วยสองพระธิดาภายใต้หลังคาพระตำหนักหลวงได้ 15 วัน ความก็ทราบถึงท้าวพิไชยพิษณุและพระนางดาราวดี พระราชบิดาและมารดาของพระเพื่อน พระแพง พระองค์เสด็จมาลอบดูด้วยตนเอง ครั้นเห็นถึงความสง่างามของพระลอเข้าก็นึกรักให้อภัยจึงเสด็จกลับ แต่พระเจ้าย่าของพระเพื่อน พระแพง ผู้ซึ่งสูญเสียสามีสุดที่รักไปในสงครามกับเมืองสรวงไม่ยอมจึงได้ส่งทหารเข้ามาล้อมสวนขวัญ พระลอ พระเพื่อน พระแพง ต่อสู้จนถูกลูกธนูที่ยิงมายืนตายอยู่เคียงกัน เมื่อพระราชบิดาของพระเพื่อน พระแพงทรงทราบเรื่องจึงสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าย่าเสีย แล้วจึงส่งสารไปยังเมืองสรวง ทั้งสองเมืองจัดการกับพระศพของพระลอ พระเพื่อน พระแพง แล้วสร้างเป็นเจดีย์เล็ก ๆ ขึ้น
ปัจจุบันพระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุพระลอ หรือชาวบ้านเรียกว่า “พระธาตุหินล้ม” ตามตำนานพื้นเมืองกล่าวว่าสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2300 ในบริเวณที่ตั้งของเมืองสรองโบราณ พระธาตุองค์นี้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักอมตะและที่บรรจุอัฐิของพระลอแห่งนครแมนสรวง และพระเพื่อน พระแพง ธิดาเมืองสรอง อันเป็นต้นกำเนิดของวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตพระลอ”
เรื่องราววรรณกรรมของพระลอ มิใช่เป็นเพียงเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องราวความรักของแม่กับลูก สามีกับภรรยา นายกับบ่าว ที่เจือปนไปด้วยความเสียสละ เวทมนต์อาถรรพณ์ ความสนุกสนานตื่นเต้น ความทุกข์ยาก ความจากพราก อันล้วนเป็นเรื่องราวที่ซาบซึ้งตรึงใจตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการยกย่องลิลิตพระลอให้เป็นสุดยอดแห่งวรรณกรรมประเภทลิลิตสุภาพของไทยที่มิอาจมีวรรณกรรมเรื่องใดมาเทียบเคียงได้
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น