ร่องรอยอารยธรรม “มอญ” กลุ่มสุดท้ายในลำพูน

ชุมชนมอญบ้านหนองดู่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นชุมชนมอญอีกแห่งหนึ่งที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงสำเนียงเสียงภาษามอญ สันนิษฐานว่ากลุ่มคนมอญที่เข้ามาอยู่ในหริภุญชัยเมื่อราวศตวรรษที่ 16 ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานทาง โบราณคดีที่วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นคนมอญกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หากย้อนกลับไปในอดีต “มอญ” คือบรรพบุรุษกลุ่มแรกที่เคยครอบครองผืนแผ่นไทยมาก่อน เช่นในพุทธศตวรรษที่ 8 หรือราว 1,800 ปีมาแล้วมีหลักฐานยืนยันว่า อาณาจักรมอญแห่งแรกสุดมีศูนย์กลางอยู่แถบนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งเรียกรวมกันว่า “อาณาจักรทวารวดี” (Dvaravati)
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเอกสารยืนยันอีกว่า บรรพชนของคนมอญน่าจะมาจากเมืองตะเลงคนา (Telinggana) ซึ่งอยู่ในแถบอินเดียตอนใต้ ก่อนจะอพยพย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่เมืองหงสาวดีแล้วตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นเรียกว่า “อาณาจักรพยู” ตอนหลังถูกพม่าเข้ารุกรานและได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ในสยาม โดยเข้ามาตั้งรกรากครั้งแรกที่บริเวณจังหวัดนครปฐม ต่อมาได้กระจายออกไปตามที่ต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลักฐานที่จังหวัดนครปฐม พบเหรียญเงินปรากฏอักษรมอญไว้ว่า “เย ธฺมมา ศรีทวารวติ” ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับชื่อของเมืองทวารวดี ทำให้ทราบว่ากลุ่มคนมอญเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนในสมัยทวารวดีเมื่อก่อนศตวรรษที่ 15 สำหรับมอญบ้านหนองดู่ จะเรียกตัวเองว่า “พวกเม็งบ้านหนองดู่” ตั้งบ้านเรืออยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออกเป็นมอญบ้านหนองดู่และบ่อคาว ส่วนฝั่งตะวันตกเป็นมอญบ้านต้นโชค อ.สันป่าตอง มีแม่น้ำปิงเป็นสายใยยึดโยงความสัมพันธ์รวมคนมอญทั้งสองฝั่งได้ราว 3,000 กว่าชีวิต 500 กว่าครัวเรือน
หากย้อนไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการอพยพคนมอญขึ้นมาอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังกลุ่มใหญ่ 1 – 2 ระลอก ซึ่งปัจจุบันปรากฏชุมชนคนมอญ ทั้งในจังหวัดลำพูนและลำปาง ขณะเดียวกันประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ ก็คือประเด็นเรื่อง พระนางจามเทวีเป็นมอญที่มาจากละโว้หรือเป็นมอญบ้านหนองดู่ ความเชื่อของชาวมอญที่นี่ พวกเขาเชื่อว่าอพยพมาจากเมืองมอญ ในประเทศพม่าโดยตรง อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่า ชาวมอญบ้านหนองดู่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญในสมัยหริภุญชัย พร้อม ๆ กับการกำเนิดของพระนางจามเทวี ตามตำนานโยนกนคร กล่าวว่า “พระนางจามเทวีทรงสมภพเมื่อเวลาจวนจะค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีมะโรง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ปีพ.ศ.1176 โดยประสูติที่บ้านหนองดู่ (นครบุรพนคร) เป็นชาวเมงคบุตร ดังนั้นชาวมอญที่นี่จึงนับถือพระนางจามเทวีเป็นสมือนบรรพบุรุษ และทุกปีจะมีพิธีบวงสรวงวิญญาณเจ้าแม่จามเทวี อันเป็นประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งจะทำพิธีภายในเดือน 4 ของมอญ (ปอน = 4) เดือน 5 ของล้านนา หรือราวเดือนกุมภาพันธ์
เอกลักษณ์ของชาวมอญบ้านหนองดู่ที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การแต่งกายและภาษา คนมอญ นิยมเรียกตนเองว่า “เมง” การแต่งกายของคนเมงคือ ผู้ชาจะใส่โสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดบ่า สวมเสื้อคอมน ผู้หญิงจะใส่ชุดลูกไม้สีชมพู หากแต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใส่โสร่ง การแต่งกายแบบมอญจะมีในโอกาสพิเศษเท่านั้น เช่น งานวันบวงสรวงเจ้าแม่จามเทวี วันเปิงสังกรา (วันสงกรานต์) วันลอยหะมด (วันลอยกระทง) และวันฟ้อนผีเท่านั้น ส่วนภาษาของชาวมอญก็ยังคงมีการสื่อสาร โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ทว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจในการพูด – เขียนภาษามอญมากยิ่งขึ้น
ในรายงานวิชาการเรื่องการขุดแต่งเจดีย์ประธานวัดเกาะกลาง โดยวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดีอิสระ กล่าวถึงวัดเกาะกลางว่าเดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่กลางทุ่งนาในเขตบ้านบ่อคาว ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน วัดนี้มีเรื่องเล่าเชิงมุขปาฐะสืบต่อกันมาว่า เป็นวัดที่สร้างโดยเศรษฐีอินตา เชื้อสายมอญซึ่งเป็นบิดาของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมาถูกทิ้งร้างโดยไม่ทราบสาเหตุ วัดเกาะกลางในอดีตเคยเป็นวัดของคนมอญสร้างขึ้นอยู่กลางน้ำ รอบ ๆ วัดเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 พระมหาสงวน ปัญญา วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ พระมหาดวงจันทร์ เขียวพันธ์ วัดพระศรีมหาธาตุกรุงเทพฯและพระอุดม บุญช่วย จากวัดหนองดู่ ลำพูน ได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดเกาะกลางซึ่งเป็นวัดร้างและมีโบราณสถานอยู่เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันวัดเกาะกลางเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดจะพบกับโบราณสถานที่สำคัญซึ่งเป็นเจดีย์ประธานทรงล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นค่อนข้างชัดเจนมาก ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างขึ้นบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม องค์เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจรนำยื่นออกมาจนมีลักษณะเป็นมุข ที่เสากรอบมุขและหลังคาประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา จากลวดลายปูนปั้นของเจดีย์องค์นี้เรียกได้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะสามารถสืบค้นอายุของเจดีย์ได้ ลวดลายพรรณพฤกษา
และลายเมฆไหลที่พบประดับกรอบซุ้มจรนำด้านเหนือของเจดีย์ประธานวัดเกาะกลางนั้น เป็นงานประติมากรรมฝีมือช่างสกุลล้านนาที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์มาจากสุโขทัย ดังนั้นนักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่าประติมากรรมปูนปั้นที่ ประดับองค์เจดีย์ประธาน เป็นประติมากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้าติโลกราชนอกจากนี้รอบ ๆ วัดเกาะกลางยังปรากฏเจดีย์ต่าง ๆ และโบราณสถานอีกกว่า 7 แห่ง โดยเฉพาะเจดีย์หมายท่าที่อยู่ปากทางเข้าวัด เจดีย์หมายท่านี้น่าจะหมายถึงท่าน้ำบ้านหนองดู่ ที่ด้านหน้าวัดยังมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม มีเสาแกนกลางเพื่อรับน้ำหนัก ซึ่งไม่เคยปรากฏรูปแบบที่ใดมาก่อนตั้งอยู่บนเนินดิน ในวัดยังมีซุ้มประตู ฐานอุโบสถและรากหรือฐานกำแพงวัดตลอดจนสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เป็นเศษอิฐจมอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก กลุ่มโบราณสถานภายในวัดเกาะกลางที่พบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มโบราณสถานที่อยู่ภายในบริเวณวัดและกลุ่มโบราณสถานที่อยู่รอบ ๆ วัด รูปแบบของโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดเกาะกลาง เป็นศิลปกรรมล้านนาคือตัวเจดีย์เป็นทรงมณฑปแบบล้านนา
ข้างล่างเป็นฐานจตุรมุข ข้างบนเป็นทรงระฆังคว่ำ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่ยังไม่ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม ชุมชนคนมอญแห่งเมืองหริภุญไชยกลุ่มสุดท้ายที่ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดเกาะกลางแห่งนี้น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสืบค้นอดีต แม้ว่าคนมอญส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตให้เข้ายุคสังคมในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของคนมอญ ที่ฝังรากอยู่ในมโนสำนึกแล้วทุก ๆ ปีชาวบ้านเกาะกลางจะจัดงานเทศกาลฟ้อนผีเม็ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดียวที่ยังถูกถ่ายทอด มาจนถึงลูกหลานเป็นการสานต่อวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ไม่ให้สูญสลาย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น