เคยสงสัยกันไหม? ว่าทำไมพริกถึง “เผ็ด”

จากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์เกือบ 200 ปีมาแล้ว พบว่า สารเคมีที่มีชื่อว่า “แคปไซซิน” (capsaicin) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พริกเผ็ด บริเวณที่พบสารแคปไซซินภายในผลพริกนั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นกรด ถูกเข้าใจผิดกันเยอะว่ามันอยู่ในเม็ดของพริก แต่ที่จริงนั้นแคปไซซินถูกพบอยู่ในผิวด้านใน และไส้ของพริกต่างหาก
พวกมันจะละลายออกมากับน้ำเวลาที่ถูกนำไปทำอาหาร ในทางวิทยาศาสตร์นั้นจัดให้รสเผ็ดจากแคปไซซินเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายประเภทหนึ่ง ซึ่งแคปไซซินจะทำให้เกิดความระคายเคืองที่ทางเดินอาหาร ร่างกายของมนุษย์จึงต้องบังคับให้ Mucous Membranes ที่อยู่ในช่องจมูกทำการพองตัวและหลั่งสารที่เราเรียกกันว่า “น้ำมูก” ออกมาเพื่ออุดจมูกไม่ให้สิ่งแปลกปลอมอย่างแคปไซซินเข้าสู่ปอดได้
โดย “แคปไซซิน” จะอยู่ในบริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว หรือที่เรียกว่า “รกพริก” เป็นส่วนใหญ่ และส่วนของเนื้อพริก เปลือก หรือเมล็ดพริก จะมีสารแคปไซซินอยู่น้อยมาก ซึ่งต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่มักคิดว่า เมล็ดเป็นส่วนของพริกที่เผ็ดที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณของสาร “แคปไซซิน” จะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิด และสายพันธุ์ของพริกอีกด้วย อีกทั้ง “แคปไซซิน” ยังเป็นสารออกฤทธิ์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย อาทิเช่น บรรเทาอาการปวดหรือเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวดข้อ การติดเชื้อทางผิวหนัง แผลในกระเพาะอาหาร ลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงเชื่อว่าอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องดูถึงการศึกษาถึงข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์ว่ามีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานพริกที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น